‘โควิด-19’ จุดเปลี่ยนสู่ ‘เรียนออนไลน์’ แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

‘โควิด-19’ จุดเปลี่ยนสู่ ‘เรียนออนไลน์’ แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การที่จะเปลี่ยนการเรียนการสอนไปเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ก็เหมือนกับเราทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง และช่องว่างดิจิทัลนี่เองที่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างทางชนชั้นให้กับสังคมมากขึ้น และจะเป็นการสร้างปัญหาในอนาคต เพราะพวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้

ในช่วงที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งเลื่อนวันเปิดภาคการศึกษาเพื่อรองรับการเปิดอาเซียน AEC เมื่อหลายปีก่อน รองอธิการบดีบางท่านกล่าวกับผมว่า “คนคิดนโยบายและออกกฎเกณฑ์ คือคนที่อยู่กรุงเทพฯ สอนในห้องแอร์ ไม่เข้าใจเด็กต่างจังหวัดที่ช่วงฤดูร้อนบางคนต้องกลับไปช่วยทำนา ห้องแล็บที่ภาควิชาก็ร้อน เด็กนักศึกษาผู้ชายต้องถอดเสื้อทำแล็บ” สุดท้ายมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ต้องปรับการเปิดเรียนไปตามบริบทของแต่ละแห่ง

ปีที่ผ่านมาผมได้พิจารณาคำของบประมาณไอทีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พบว่าบางคณะขอซื้อคอมพิวเตอร์ในห้องแล็บจำนวนมากให้นักศึกษา และซื้อ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะให้บุคลากร ผมจึงถามคณบดีด้วยความสงสัยว่า ควรจะให้เด็กจัดหาโน้ตบุ๊คมาเอง และจัดหาโน้ตบุ๊คให้บุคลากรแทนการใช้คอมพิวเตอร์ตั้ง โต๊ะ คำตอบของคณบดี คือ “เด็กส่วนใหญ่ไม่มีเงิน บุคลากรหลายคนไม่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน” ทำให้ผมตั้งสติได้และย้อนคิดไปสมัยที่เป็นอาจารย์ต่างจังหวัด

สองสัปดาห์ก่อนผมได้คุยกับอธิการบดีท่านหนึ่งที่บอกผมว่า ตอนนี้เด็กบ่นว่าถ้าต้องไปเรียนออนไลน์ ควรลดค่าเทอมให้ เพราะไม่ได้ใช้หอพัก ไม่ได้ใช้ห้องสมุด หรือไฟฟ้าของมหาวิทยาลัย ตอนแรกก็ไม่คิดอะไรและคิดว่านักศึกษาคิดเล็กคิดน้อย แต่เมื่อวันก่อน พบว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งเขียนถึงนักศึกษาที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตแบบ unlimited ไม่มีคอมพิวเตอร์ นักศึกษาจำนวนมากต้องกู้ กยศ. เมื่อต้องการใช้อินเทอร์เน็ตก็ยังพึ่งพาไวไฟภายในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบางแห่งมีนักศึกษาจำนวนมากที่พ่อแม่ยากจน ทำนา รับจ้างรายได้รายวัน ยิ่งวิกฤติเช่นนี้ผู้ปกครองก็ยิ่งเดือดร้อนกว่าเดิม

จากประเด็นนี้ทำให้คิดได้ว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย นักศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะต่างจังหวัดยังยากจน นอกจากนี้นักศึกษาแต่ละคนมีศักยภาพในการเข้าถึงหรือมีอุปกรณ์ไม่เท่ากัน ช่วงนี้ใกล้จะเปิดเทอมภาคฤดูร้อน บางมหาวิทยาลัยคงต้องพิจารณาว่าควรจะทำอย่างไร อย่าคิดแค่ว่าจะสอนออนไลน์ได้ทั้งหมด

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่มันต้องพิจารณาความเท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งผมกลับพบว่า แม้แต่สภามหาวิทยาลัยบางแห่งยังต้องงดประชุม เพราะขาดความพร้อมที่จะประชุมออนไลน์ ทั้งที่องค์ประชุมมีเพียง 20-30 คน แต่เรากลับจะให้นักศึกษาและบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัยเป็นหมื่นคนมาสอนออนไลน์ทันทีทันใดย่อมทำได้ยากกว่า

ดังนั้น จึงขอฝากประเด็นเรื่องการสอนออนไลน์ไว้ 3 เรื่อง คือ คน นโยบาย และเทคโนโลยี เรื่องการเลือกเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักน้อยสุด แต่เรื่องคนเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุด และต้องพิจารณาว่า นักศึกษาทุกคนในชั้นเรียนมีความสามารถที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้หรือไม่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและฐานะของนักศึกษา บางครั้งแม้แต่อาจารย์เองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเรื่องของความเร็วอินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์ก็ตาม

แน่นอนว่า รูปแบบการสอนในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไปเนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล แต่วิกฤติโควิด-19 ทำให้เราต้องรีบเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาอย่างฉับพลัน เราไม่มีเวลาเตรียมตัวเรื่องอุปกรณ์ เทคโนโลยี และกระบวนการการสอน การจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนสอนไปสู่ระบบออนไลน์โดยทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้สอนก็จำเป็นต้องปรับวิธีการสอนจากรูปแบบเดิมๆ ผู้เรียนก็จำเป็นจะต้องปรับวิธีการเรียนเช่นกัน รวมถึงต้องมีการปรับวิธีการประเมินและการวัดผลให้มีความเหมาะสมกับการสอนออนไลน์

ผู้เรียนและผู้สอนที่อยู่ในสาขาด้านเทคโนโลยีก็อาจจะมีความคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือต่าง และอาจปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วกว่า ผมเองยังมีโอกาสเคยได้สอนออนไลน์ และยังเรียนหนังสือในหลักสูตรออนไลน์ หลายๆ หลักสูตรทั้งในและต่างประเทศซึ่งเห็นได้ชัดว่า นอกจากความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี ทักษะและกระบวนการสอน บางอย่างก็ต้องจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไป ตั้งแต่การสอนและวิธีการประเมินผลที่มีความยากกว่าเดิม ทั้งในแง่ข้อสอบและการทำสอบออนไลน์ที่ต้องมั่นใจได้ว่าผู้เรียนทำการสอบด้วยตัวเอง อีกทั้งผู้เรียนก็ต้องมีความตั้งใจในการเรียน มีความคิดที่จะหาความรู้มากกว่า เพียงแค่จะเรียนเพื่อสอบผ่านเท่านั้น

การแก้ปัญหาเรื่องทักษะของคน และกระบวนการ แม้เป็นเรื่องยากพอควร แต่ที่ยากกว่าคือ การเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้เรียน จะทำอย่างไรเพื่อให้มั่นใจได้ว่านักเรียน นักศึกษาที่ยากจนจะมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

สิ่งๆ ต่างเหล่านี้คือสิ่งผู้กำหนดนโยบายต้องร่วมกันช่วยคิด จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีกองทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพราะหากไม่แก้ปัญหานี้แล้ว การที่จะเปลี่ยนการเรียนการสอนไปเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ก็เหมือนกับเราทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง และช่องว่างดิจิทัลนี่เองที่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างทางชนชั้นให้กับสังคมมากขึ้น และจะเป็นการสร้างปัญหาในอนาคต เพราะพวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้