การลดความชันของภาวะ 'เศรษฐกิจถดถอย'

การลดความชันของภาวะ 'เศรษฐกิจถดถอย'

ความท้าทายเร่งด่วนในปัจจุบัน ยังคงต้องอยู่กับการลดความชันของการระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ควบคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสิ่งที่จะช่วยลดความชันของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ก็คือ มาตรการเศรษฐกิจที่ใหญ่ เร็ว และตรงจุด

ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า ผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงกว่าวิกฤติการเงินโลกในปี 2008-2009

ล่าสุด ณ 31 มี.ค. Goldman Sachs คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 1.8% ในปีนี้เทียบกับการหดตัว 0.8% ในปี 2009 ในครั้งนั้นปัญหาหลักเกิดจากความเปราะบางในระบบสถาบันการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันการเงินจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อธุรกิจที่มีหนี้มากและต่ออุปสงค์ ที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อมากเป็นพิเศษ เช่น รถยนต์ และที่อยู่อาศัย

แต่หลังจากทางการของประเทศเหล่านั้นได้ออกมาตรการการเงินการคลังแบบยาแรงและนอกกรอบ เพื่อดูแลให้ระบบการเงินให้กลับมาทำงานได้ และเข้าช่วยเหลือ (bailout) ธุรกิจในหลายสาขาหลักสถานการณ์ก็ทยอยดีขึ้นได้ในช่วง 1 ปีครึ่ง 

ขณะที่วิกฤติ COVID-19 เป็นการหยุดชะงักอยุดชะงักอย่างฉับพลัน (sudden stop) ของเศรษฐกิจทั่วโลก จากปัญหาโรคระบาดที่ทำให้เกิด shock ต่อเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานผ่านการเจ็บป่วยของผู้คนและมาตรการควบคุมโรค เช่น การปิดเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตขนส่ง และจำหน่ายสินค้า และด้านอุปสงค์ผ่านรายได้ที่ลดลงความหวาดกลัวต่อการติดโรค และความเชื่อมั่นที่ลดลงกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ผลกระทบจึงเกิดขึ้นในวงกว้าง ลึก และรวดเร็ว

เครื่องชี้เศรษฐกิจของจีนในช่วงเดือน ก.พ. ทั้งยอดค้าปลีกที่ลดลงกว่า 21% (yoy) ระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 14% หรือตัวเลขการว่างงานของสหรัฐในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่เพิ่มกว่า 3.3 ล้านคน ในช่วงสัปดาห์เดียว ต่างสะท้อนผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าสิ่งที่เคยเกิดในอดีต และแม้ตัวเลขเร็วของจีนในเดือน มี.ค. จะปรับดีขึ้นบ้าง หลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง แต่เป็นการเพิ่มอย่างช้าๆ จากฐานที่ต่ำมากในเดือนก่อนหน้า ทำให้คาดการณ์ได้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ คงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปใกล้เคียงกับตัว U มากกว่าตัว V แม้จะผ่านจุดสูงสุดของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่แล้วก็ตามตราใดที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาที่ได้ผลจริง 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการมีมาตรการด้านเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดความชันของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (flattening the recession curve) ควบคู่ไปกับมาตรการ sicial distancing ที่ช่วยลดความชันของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ (Flattening the outbreak curve) ด้วยเพราะการหยุดอย่างฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างส่งผลให้รายได้ของแรงงานและธุรกิจลดลงอย่างมาก ธุรกิจที่มีสภาพคล่องน้อย อาจต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดแรงงาน หรืออาจถึงขั้นปิดกิจการลง จะยิ่งทำให้ภาคครัวเรือนขาดสภาพคล่องมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายและการชำระหนี้ ซึ่งจะมีนัยต่อรายได้ของภาคธุรกิจเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าด้วย 

ในประเด็นนี้ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างมากเป็นพิเศษ เพราะ 1.เราพึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวต่างประเทศมากถึง 58% และ 12% ของ GDP ซึ่งต่างถูกกระทบรุนแรง 2.เศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในหลายสาขาธุรกิจอยู่ก่อนหน้าแล้วจากกำลังซื้อที่ถูกฉุดรั้งโดยสงครามการค้า ภัยแล้ง และภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง และ 3.ภาคครัวเรือนและ SME ของไทยมีกันชนทางการเงินน้อย ตัวเลขสำรวจครัวเรือนไทยล่าสุดปี  2019 พบว่า 34% ของครัวเรือน หรือกว่า 7.3 ล้านครัวเรือน มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 1 เดือนของค่าใช้จ่าย ขณะที่ครัวเรือนที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME มีถึง 42.5% หรือกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน ที่มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 1 เดือนของค่าใช้จ่ายรวมเช่นกัน ซึ่งต่างชี้ให้เห็นความเสี่ยงของไทยี่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้าหลัง COVID-19 จบลง 

สิ่งที่จะช่วยลดความชันของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ คือ มาตรการเศรษฐกิจที่ใหญ่ เร็ว และตรงจุด

สิ่งที่จะช่วยลดความชันของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ คือ มาตรการเศรษฐกิจที่ใหญ่ เร็ว และตรงจุด โดยให้ความสำคัญกับการช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้ การช่วยแรงงานให้รักษางานหรือมีแนวทางชดเชยรายได้ให้ และการดูแลระบบการเงินให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในส่วนนโยบายการคลัง มาตรการที่มีน้ำหนักที่สุด โดนหลายชาติรวมถึงไทยได้นำมาใช้ คือ การโอนเงินหรือลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ให้ประชาชนและภาคธุรกิจที่ถูกกระทบโดนตรง ควบคู่กับการเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับไทยยังจำเป็นที่จะต้องเพิ่มวงเงินโอนขึ้นอีกมากผ่านการออก พรก.กู้ฉุกเฉิน ขณะที่มาตรการคลังเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายอื่นๆ ส่วนใหญ่คงต้องรอหลังการระบาดของโรคถูกควบคุมได้ก่อน 

ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ได้หันกลับมาใช้ Unconventional policy มากขึ้นอีกครั้ง สำหรับไทย ธปท.ได้ส่งสัญญาณที่จะใช้มาตรการเหล่านี้เช่นกัน เห็นได้จากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับเพื่อสนับสนุนการพักชำระหนี้ การเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณมากเพื่อดูแลความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน หรือการขยายหลักทรัพย์ค้ำประกันที่สถาบันการเงินใช้ในการกู้ให้รวมถึงหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารนี้ด้วย เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินในช่วงต่อไป

ธปท.น่าจะนำมาตรการในเชิงรุกและนอกกรอบออกมาต่อเนื่อง เพราะ policy room ในการลดดอกเบี้ยมีน้อยและการส่งผ่านผลของนโยบายหลายช่องทางมีข้อติดขัด มาตรการอื่นๆ ที่ EIC เคยนำเสนอไปแล้ว เช่น การลดค่าธรรมเนียมกองทุน FIDF ที่เก็บจากฐานเงินฝากเป็นการชั่วคราวเพื่อลดภาระทางการเงินให้กับผู้ผากเงิน และเพิ่มความยืดหยุ่นให้วงเงินและปรับเงื่อนไขสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สถาบันการเงินได้สภาพคล่องโดยตรงจาก ธปท. เพื่อปล่อยให้กับธุรกิจ SME และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มเติมจากวงเงินภาครัฐได้ทำผ่านธนาคารออมสินแล้ว จะมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับการลดดอกเบี้ยที่จะยังมีต่อเนื่องให้ส่งผลบวกกับเศรษฐกิจได้มากขึ้น 

สำหรับผลกระทบข้างเคียงหลักควรที่ระวัง 2 ประการ ได้แก่ ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นมาก และประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจที่อาจลดลงจากการช่วยเหลือธุรกิจบางส่วนที่รูปแบบธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้ให้อยู่รอด หรือเป็น zombie firms เป็นประเด็นที่ต้องจับตา แต่น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ในระยะข้างหน้า ทั้งจากระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งจะช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ของรัฐและการออกมาตรการเสริมเพิ่มเติมเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ 

ความท้าทายเร่งด่วนในปัจจุบัน ยังต้องอยู่กับการลดความชันของการระบาดของ COVID-19 และของภาวะเศรษฐกิจถดถอยควบคู่กัน