UNHCR ลุยช่วยผู้ลี้ภัยฝ่าวิกฤติโควิด-19

UNHCR ลุยช่วยผู้ลี้ภัยฝ่าวิกฤติโควิด-19

UNHCR ยืนหยัดและมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)เผยมาตรการต่อเนื่องในการตอบสนองในพื้นที่การทำงานต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส

นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเผยว่า กังวลมากกับการแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ตลอดจนผลกระทบที่เกิดต่อผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิง วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการทำงานในพื้นที่ของ UNHCR ทำให้ต้องเร่งปรับแนวทางการทำงานอย่างรวดเร็ว แต่ถึงจะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ UNHCR ไม่เคยลดความมุ่งมั่นในการมอบความคุ้มครองและปกป้องผู้ลี้ภัยอย่างสุดกำลัง 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 UNHCR เปิดระดมทุนกว่า 255 ล้านเหรียญสหรัฐ สนับสนุนแผนงานระดับโลกด้านมนุษยธรรมเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ของสหประชาชาติ เพื่อมุ่งช่วยเหลือประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนที่สุด

นายกรันดีเล่าถึงการทำงานเป็นรายประเทศ เริ่มจาก บังกลาเทศที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 850,000 คน เจ้าหน้าที่เริ่มฝึกอบรมผู้ลี้ภัยอาสามากกว่า 2,000 คนที่ทำงานร่วมกับชุมชนและผู้นำทางศาสนาร่วมกันเผยแพร่มาตรการการป้องกันที่สำคัญต่างๆ แก่ผู้ลี้ภัยผ่านทางสปอตวิทยุ วีดีโอ โปสเตอร์ และใบปลิวรณรงค์ในภาษาท้องถิ่น ได้แก่ ภาษาโรฮิงญา เมียนมา และเบงกาลี นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการจัดหาสบู่และน้ำสะอาดแก่ผู้ลี้ภัยทุกคน โดยกำลังเพิ่มจุดล้างมือและสนับสนุนการก่อสร้างสถานที่รักษาและแยกตัวแห่งใหม่สำหรับผู้ลี้ภัยและชุมชนต่างๆ ที่ให้ที่พักพิงโดยรอบ

 กรีซ UNHCR เร่งการสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มการแจกจ่ายน้ำสะอาดและระบบสุขาภิบาล จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย และจัดหาจัดตั้งหน่วยแพทย์ รวมถึงพื้นที่คัดกรองโรค แยกตัวสังเกตอาการ และกักตัว กระตุ้นหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอโยกย้ายผู้ขอลี้ภัย 35,000 คนจากศูนย์แรกรับที่หนาแน่นบนเกาะให้เหลือน้อยกว่า 6,000 คน

 จอร์แดน มีการตรวจวัดอุณหภูมิที่ทางเข้าค่ายผู้ลี้ภัยซาตารี (Zaatari) และอัซรัค (Azraq) พร้อมการรณรงค์แคมเปญภายในค่ายเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส  เพิ่มการจ่ายไฟฟ้าและขยายเวลาเปิดร้านค้าเพื่อหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม จัดจุดล้างมือและตรวจวัดอุณหภูมิที่ทางเข้าของศูนย์พักพิง ศูนย์แรกรับ และหน่วยแพทย์ต่างๆ ในบริเวณที่พักพิงและค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศเอธิโอเปียและยูกันดา

 ซูดาน UNHCR  จัดส่งสบู่ให้ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นในประเทศ และสมาชิกในชุมชนที่ให้ที่พักพิงมากกว่า 260,000 คน  ส่งข้อความกว่า 15,000 ข้อความไปหาผู้ลี้ภัยในเขตเมืองคาร์ทูม (Khartoum) เพื่อประชาสัมพันธ์การดูแลสุขภาพและวิธีป้องกันตนเองที่ถูกต้อง

มาตรการการป้องกันในค่ายผู้ลี้ภัยและพื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นในประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและประเทศบูร์กินาฟาโซ มีการจัดตั้งจุดล้างมือ แจกจ่ายสบู่และอุปกรณ์ทำความสะอาด และการประชาสัมพันธ์อย่างครอบคลุมทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์ สปอตวิทยุ และผ่านเครือข่ายชุมชน

บราซิล UNHCR และองค์กรพันธมิตรได้สร้างบริเวณแยกตัวบุคคลที่อาจติดเชื้อในเมืองบัววิสตา (Boa Vista) สำหรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาและพลเมืองท้องถิ่น และมีการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์สุขอนามัย 1,000 ชุดแก่ชนพื้นเมืองในเมืองเบเลง (Belem) และซังตาเรย์ (Santarem)

UNHCR ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติเพื่อร่วมหาทางออกในการขนส่งที่เป็นไปได้อย่างยากลำบากเนื่องจากการผลิตหยุดชะงัก และการปิดชายแดนในประเทศต่างๆ จึงต้องเร่งการจัดซื้อในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคเพื่อทำการขนส่งทางอากาศ เมื่อไม่นานมานี้อุปกรณ์การช่วยเหลือฉุกเฉินและอุปกรณ์การแพทย์กว่า 100 ตันได้ถูกลำเลียงทางอากาศไปยังประเทศชาดและอิหร่าน

ส่วนในประเทศไทย UNHCR  ยังคงทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งแผนเตรียมความพร้อม ป้องกัน และตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 เพื่อการรับมือด้านสาธารณสุขในกลุ่มบุคคลในความห่วงใยอย่างทันท่วงที รวมถึงการทำงานเชิงรุกในการเพิ่มมาตรการป้องกันสำหรับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ด้วย

ติดตามเรื่องราวผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่ และผู้สนับสนุนของ UNHCR ทั่วโลกในการให้ความช่วยเหลืออย่างมีเมตตาที่ Live Blog: Refugees in the COVID-19 crisisและร่วมบริจาคปกป้องผู้ลี้ภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ที่เว็บไซต์ https://www.unhcr.or.th/donate/coronavirus-emergency?utm_source=google&utm_medium=referral&utm_campaign=TH_PS_TH_cea___pr&utm_content=thailand