เตรียมตัวระวังโรคขาประจำหน้าร้อน

เตรียมตัวระวังโรคขาประจำหน้าร้อน

โรคที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงหน้าร้อนที่เราต้องเฝ้าระวัง ไม่แพ้กับสถานการณ์รายวันจากโควิด-19

ในเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 จากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่กลายเป็นภัยใหม่ที่ทุกคนกำลังหวาดวิตก แต่ทันทีที่อุนหภูมิอากาศของประเทศไทยค่อยๆ สูงขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เวลาเดียวกันนี้เรามี โรคหน้าร้อน ซึ่งเปรียบเสมือนโรคขาประจำ ที่ให้เราต้องเฝ้าระวังกัน

อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความชื้นในอากาศ ตลอดจนสภาพแวดล้อมล้วนส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย และในช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยก็พบกับ โรคหน้าร้อน ยอดฮิตที่เกิดขึ้นบ่อยใน 4 กลุ่มโรคต่อไปนี้

1.ลมแดดหรือฮีทสโตรก

นี่คือโรคขาประจำตัวจริงที่เราได้ยินอยู่เสมอในทุกปี โดยโรคดังกล่าวมักพบมากกับผู้ที่ทำงานกลางแดด หรือต้องสัญจรไปบนถนนที่แสงแดดแผดเผาเป็นเวลานาน และอาการของโรคนี้เริ่มจากปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้  อาเจียน ตัวร้อน กระหายน้ำ เหงื่อออกมากจนไม่มีเหงื่อ หัวใจเต้นแรง เป็นตะคริว

โรคลมแดดไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะจากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ระหว่างปี 2558-2561 มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน จำนวน 56, 60, 24, 18 ราย ตามลำดับ ซึ่งอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน อาจเป็นเพียงเล็กน้อยไล่ตั้งแต่การมีผื่น  ผดแดด บวมแดด ลมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจนอาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)

การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ ซึ่งสาเหตุมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.อุณหภูมิของอากาศที่ร้อน  2.ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น  3.อยู่กลางแจ้งหรืออยู่ในที่ที่อาจได้รับรังสีความร้อน และ  4.สภาวะที่มีลมหรือการระบายอากาศน้อย เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงกว่าคนทั่วไป ได้แก่  1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เกษตรกร นักกีฬา และออกกำลังกาย  2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ  3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง  4.คนอ้วน  5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ  6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

2.โรคอาหารเป็นพิษหรือท้องร่วง

ถัดจากลมแดด นี่ก็ถือเป็นอีกโรคขาประจำที่พบบ่อยๆไม่พ้นกับข้อแรก ซึ่งนั่นก็เพราะว่าอากาศที่ร้อนคือตัวการสำคัญที่ทำให้อาหารเน่าเสียเร็ว 

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –16 กันยายน 2562 พบผู้ป่วยจากโรคอุจจาระร่วง 758,321 ราย เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งจากข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ ช่วงปี 2560-2562 มีรายงานผู้ป่วยอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าประปราย ทั้งยังพบว่ามีรายงานตรวจพบเชื้อไวรัสโรต้าในกลุ่มผู้ใหญ่ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำเพิ่มขึ้น

การป้องกันของปัจจัยที่จะส่งผลให้อาหารเป็นพิษทำได้ โดยการบริโภคอาหารที่ปรุงสุกร้อนและสะอาด นอกจากนี้ ควรจัดเก็บอาหารให้ปลอดภัยจากสัตว์และแมลงพาหะต่างๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค

 3.โรคไข้เลือดออก

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในประเทศไทยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วย 64,159 ราย เสียชีวิต 72 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในปีนี้พบในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุดคือกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี รองลงมา 15 - 34 ปี และแรกเกิด - 4 ปี ตามลำดับ

สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมา โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน 2-3 วัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังแขนขาและข้อพับ หากมีอาการดังกล่าวขอรีบพบแพทย์

เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็น 1ในโรคยอดฮิตของ โรคหน้าร้อน สิ่งที่ต้องทำคือการยึดหลัก 3 เก็บ คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน

4.โรคพิษสุนัขบ้า

สุดท้ายที่เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในหน้าร้อน คือโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องตระหนักว่า แม้สุนัขในบ้านจะได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้ไปเล่นนอกบ้านโดยไม่มีการควบคุมดูแล

ในช่วงหน้าร้อน การปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ต้องได้รับการระวังเป็นพิเศษ และหากใครถูกสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโพวิดีนหรือแอลกอฮอล์ จากนั้นรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด แต่จะให้ดีที่สุดเราควรดูแลสัตว์เลี้ยงของเราไม่ให้ออกไปโดยขาดการดูแล เพื่อไม่ให้ต้องไปทำร้ายใครจนต้องสร้างความหวาดวิตกให้กับผู้อื่น

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือขาประจำ ‘โรคหน้าร้อน’ที่เราต้องระวังในช่วงเดือนเมษายน ควบคู่กับการป้องกันตัวเอง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่สังคมไทยกำลังเฝ้าระวังกัน ป้องกัน และแก้ไขกันอย่างเคร่งครัดอยู่ในขณะนี้