'ฝุ่น' เร่ง 'โควิด' ระบาด!? เมื่อ 'โรค' และ 'โลก' ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน

'ฝุ่น' เร่ง 'โควิด' ระบาด!? เมื่อ 'โรค' และ 'โลก' ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน

ไขปัญหา "ฝุ่น" ที่ทำให้ "โควิด" ทำท่ารุนแรงขึ้น และความเชื่อมโยง "โรค" การระบาด กับมลภาวะใน "โลก" มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญ

ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีผลวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 เชื่อมโยงกับปัญหามลภาวะในอากาศ หรือ ฝุ่น นั้นจะเป็นตัวเร่งการระบาดที่ทำให้สถานการณ์ของ โรค ที่เกิดขึ้นใน โลก ตอนนี้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ดิอิโคโนมิสต์ รายงานเรื่องผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสเปน ซึ่งระบุถึงความเป็นไปได้ที่มลภาวะในอากาศอย่างฝุ่นละอองจะมีส่วนช่วยในการแพร่ระบาดของ เชื้อ COVID-19 มากขึ้น แม้รายงานฉบับดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ และพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ Peer Review แต่ก็ได้เผยแพร่ออกมาก่อนช่วงวิกฤติการระบาดที่อาจจะใช้เป็นประโยชน์ในกระบวนการควบคุมโรค

158564589241

ในรายงานของ ดิอิโคโนมิสต์ ยังระบุถึง ความเชื่อมโยงของ โรคภัยไข้เจ็บ กับเรื่องมลภาวะทั้งในเชิงภาษาศาสตร์ และความเชื่อของผู้คน อาทิ การตั้งชื่อ "มาลาเรีย" ที่แปลว่า "อากาศเสีย" ในภาษาอิตาลี สมมติฐานของงานวิจัยชิ้นดังกล่าวอยู่ที่คำถามถึงพื้นที่แพร่ระบาดหุบเขาโปซึ่งมีสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ทำให้เกิดคำถามว่า มลภาวะน่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการระบาดหนักโดยเฉพาะมลภาวะที่เป็นฝุ่นละอองอนุภาคเล็กในอากาศ ฝุ่นละอองเหล่านี้อาจจะเป็นตัวนำไวรัสเกาะอยู่บนพื้นผิวของมันได้


งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงถึงงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจ และไวรัสโรคหัด ต่างก็เกาะติดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ เมื่อพิจารณาร่วมกับการที่เชื้อมีช่วงเวลาเพาะเชื้ออยู่ได้นาน 14 วัน กับการที่หุบเขาโปมีปริมาณมลภาวะทางอากาศสูงแล้ว ก็ทำให้นักวิจัยระบุว่าปริมาณมลภาวะกับจำนวนการติดเชื้อมีสถิติที่แปรผันตามกัน

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Washington Post และ The Guardian ได้กล่าวถึง งานวิจัยหลายชิ้นค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง ฝุ่น หรือ ควัน กับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากมลพิษทางอากาศ และการสูบบุหรี่จะทำลายปอด เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจากไวรัส เช่น โควิด-19 และทำให้เป็นปอดอักเสบซึ่งยิ่งซ้ำเติมอาการจากเชื้อไวรัสใหม่นี้ร้ายแรงยิ่งขึ้น

สมมติฐานระดับ โลก ดังกล่าว สอดคล้องกับ งานวิจัยเกี่ยวกับไวรัสซาร์ส โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงไวรัสตระกูลเดียวกันของโควิด-19 ที่ระบาดในจีนเมื่อปี พ.ศ.2546 มีข้อค้นพบที่น่าสนใจถึง คนที่อาศัยอยู่ในย่านมีมลภาวะทางอากาศนั้นเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อยู่ในย่านอากาศสะอาดมากกว่า 2 เท่า อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สมบูรณ์เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานะการเงิน และสุขภาพ

ขณะที่ งานวิจัยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ MERS ไวรัสเครือญาติอีกทางหนึ่งของโคโรน่า ซึ่งเริ่มต้นระบาดจากประเทศตะวันออกกลางเมื่อปี พ.ศ.2557 นั้นก็พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงติดโรคเมอร์ส และมีอาการรุนแรงกว่าผู้ไม่สูบ

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่า ความแข็งแรงของปอดนั้นถือว่ามีความสำคัญในการต้านเชื้อ โควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญอย่างที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล อธิบายว่า อันที่จริง โควิด-19 ไม่ต่างจากเชื้อโรคธรรมดาที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นหลอดลม หรือ ปอด เมื่อระบบร่างกายไม่เคยรู้จักโรคนี้จึงไม่มีระบบคุ้มกัน การป้องกันจึงอยู่ที่กลไกธรรมชาติที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

"การสูบบุหรี่ หรือการสูดฝุ่น PM 2.5 บุหรี่ไฟฟ้า หรือถูกควันก๊าซอะไรที่ระคายหลอดลม จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจของคนเรา ตั้งแต่ จมูก ปาก หลอดลม หลอดลมฝอย เกิดการระคายเคือง และอาจทำให้เกิดการฉีกขาด กลายเป็นจุดอ่อนที่จะทำให้เชื้อโรคทุกชนิดลุกล้ำเข้าไปในระบบหายใจของเราได้ รวมถึงเชื้อโควิด-19 ด้วย"

สำหรับสถานการณ์ ฝุ่น ของประเทศไทย ที่ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่นPM2.5 รวมทั้งปัญหาหมอกควันจากไฟป่าที่กำลังลุกลาม และเป็นปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนืออยู่ในขณะนี้นั้น ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อย่างไม่ต้องสงสัย หรือในพื้นที่ระบาดอื่นของ โลก อย่างที่ เคยมีรายงานว่า คนไข้ 2 คนแรกที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นผู้สูบบุหรี่ หนึ่งในนั้นมีภาวะปอดปวมรุนแรงเมื่อมาถึงโรงพยาบาลและเสียชีวิต 11 วันให้หลัง

158564592287

หรือกระทั่งการที่ WHO ได้กำชับถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยแพทย์ เพราะเชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านอากาศได้ผ่านละอองฝอย (aerosol) ที่เกิดจากกระบวนการทางการแพทย์เช่น การพ่นยา และการใช้ท่อช่วยหายใจ ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นเพื่อจะได้หาทางรับมือได้อย่างถูกต้อง

กรณีผลกระทบของ ฝุ่น นั้นมีผลอย่างมีนัยยะให้เรามี “อายุขัยเฉลี่ยสั้นลง” ตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่า

ทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี

โดยหากสามารถลดระดับความเข้มข้นของ PM 2.5 ลงมาตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำค่าเฉลี่ยต่อปีไว้คือ 10 มคก./ลบ.ม. จะทำให้อายุขัยของประชาชนยืนยาวเพิ่มขึ้นอีก 5.53, 4.37 และ 2.41 ปีตามลำดับ

"ลองคิดดูว่าคนเราใช้อากาศถึง 5 ลิตร ต่อการหายใจ 1 นาที ปกติจะหายใจเอาพวกมลพิษในอากาศเข้าไปอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าสูบบุหรี่ด้วยก็ยิ่งไปทำลายเกราะป้องกัน ทำลายเครื่องฟอกอากาศนี้มากยิ่งขึ้น ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคลงไปสู่ระบบหายใจส่วนล่างก็ด้อยลง" นพ.นิธิพัฒน์กล่าว หรือในรายงานการศึกษาวิจัยด้าน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM.2.5 ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เคยระบุไว้ชัดเจนว่า มีเชื้อโรคบางชนิดที่ไม่ได้แพร่กระจายจากสารคัดหลั่งที่ออกจากร่างกายเพียงอย่างเดียวแต่อนุภาคอนาดเล็กของเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสยังสามารถเกาะกับอนุภาคขนาดเล็กของฝุ่นและเข้าสู่ร่างกายได้

ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยภาพรวมของประเทศไทยนั้น ได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดที่สุดเรื่องหนึ่งไปแล้ว นอกเหนือจากปัญหาน้ำเสีย ขยะ และถุงพลาสติก ในรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ประจำปี 2562 จากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไปมลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือฝุ่นละออง PM 2.5 ฝุ่นละออง PM10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปีที่ผ่านมา ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัด ที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี

158564594153

โดยพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 34 วัน เป็น 59 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 จุดความร้อนสะสมมีค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 4,722 จุด เป็น 10,217 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 และพบค่าปริมาณฝุ่นละออง PM10 สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 233 มคก.ต่อลบ.ม. เป็น 394 มคก.ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือยังคงประสบปัญหา ฝุ่น และหมอกควันจากการปัญหาไฟป่า และการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และสุขภาพ อีกทั้งซ้ำเติมสถานการณ์ภาวะโรคระบาดในขณะนี้ให้แย่ลงไปด้วย

เมื่อโลกใบนี้ล้วนเป็นความเชื่อมโยงกัน ปัญหาการล้างผลาญทรัพยากร นำไปสู่ประเด็นของมลภาวะที่เกิดขึ้น ล้วนส่งผลต่อการอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำ รวมทั้งการระบาดของโรคทั้งทางตรง และทางอ้อม