นายกฯ ย้ำไม่มีแผนยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

นายกฯ ย้ำไม่มีแผนยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

นายกฯ ย้ำไม่มีแผนยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พร้อมปรับมาตรการจากเบาไปหาหนักตามสถานการณ์

วันนี้ (31 มี.ค.63 ) เวลา 13.15 น. ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจลงทะเบียนขอรับเงินจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) สำหรับลูกจ้างของสถานประกอบการ หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังชี้แจงทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิในการลงทะเบียนขอรับเงิน โดยขอความร่วมมือให้ประชาตรวจสอบสิทธิของตนเอง และไม่กรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ หากตรวจสอบพบจะต้องถูกดำเนินคดีและจะมีการเรียกเก็บเงินชดเชยคืนในภายหลัง สำหรับผู้ที่คุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขนั้น รัฐบาลอยู่ในช่วงพิจารณามาตรการเพิ่มเติม ที่จะให้ความช่วยเหลือและเยียวยาในระยะต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้พิจารณาใช้งบประมาณในรอบ 3 เดือน ให้มีงบประมาณเพียงพอ
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนภายหลังกรุงเทพมหานครมีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงผ่านมาเป็นเวลา 7 วัน รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่เพิ่มมากขึ้นนั้นว่า สะท้อนให้เห็นว่า มีการทำงานที่รัดกุมในการตรวจสอบคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 และประชาชนที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ก็เดินทางมาพบแพทย์มากขึ้น ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ เพียงให้ดูแลตนเองและปฏิบัติตามาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพราะอุปกรณ์เครื่องมือทางแพทย์นั้น จะใช้เพื่อผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่มีความจำเป็นก่อน

สำหรับการยกระดับมาตรการนั้น นายกรัฐมนตรียังได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตาม  พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจพิจารณาปิดการเดินทางเข้าออกพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 จำนวนมากและจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ไม่ว่าจะเป็นการปิดร้านค้า สนามกีฬา สถานบันเทิง และเข้มงวดการเล่นพนัน หากพบผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย กรณีที่สินค้ามีราคาสูงขึ้นนั้น หากพบเห็นร้านค้าและผู้ประกอบการกระทำผิดนั้น สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่จุดตรวจคัดกรองการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ซึ่งสามารถเข้าตรวจสอบได้โดยทันที รวมทั้งที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ จะมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการไกล่เกลี่ยในเบื้องต้น
 
ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดูผลกระทบทั้งการเดินทางออกต่างจังหวัดหรือนอกเขตพื้นที่ รวมทั้งการปิดบริการของร้านค้า ร้านอาหาร โดยได้สนับสนุนบริการจัดส่งอาหารเดลิเวอรีเพื่อลดการเดินทางออกนอกที่พักของประชาชน รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคแก่ผู้ที่ทำการส่งอาหารด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดูแลการให้บริการการรถขนส่งสาธารณะที่จะลดการเดินทาง เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางของคนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสได้ อาจจะมีการพิจารณาแนวทางงดการให้บริการในระยะต่อไป

นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีการทบทวนมาตรการของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะมีการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการไปตามลำดับของสถานการณ์ ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มยกเลิกใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการที่สามารถผ่อนผันได้ หรือเข้มงวดมากขึ้น
 
ชาวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยนั้นทั้งผู้ที่มีใบอนุญาตในการทำงาน และผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จะต้องเข้ารับการบันทึกข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยจะต้องมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการก่อน 14 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปยังภูมิลำเนาต่าง ๆ
 
ในส่วนของพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตร ทำบุญ สวดมนต์ ขอความร่วมมือให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม กำหนดจำนวนของคนเพื่อไม่ให้มีความแออัด และขอให้ทุกหน่วยงานราชการ เอกชน ช่วยกันจัดทำมาตรการเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 นายกรัฐมนตรียังกังวลถึงความปลอดภัยในการขับขี่ในช่วงนี้ที่มีการสัญจรเบาบาง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำป้ายเตือน ป้ายบังคับต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อลดอุบัติเหตุด้วย