ความรุนแรงในครอบครัว คือภัยเงียบในวิกฤติ ‘โควิด-19’

ความรุนแรงในครอบครัว คือภัยเงียบในวิกฤติ ‘โควิด-19’

เมื่อ “บ้าน" เป็นสถานที่สำคัญที่เกิดความรุนแรงในครอบครัว “การกักตัวอยู่บ้าน” ดูซีรีส์ อ่านหนังสือริมระเบียง จึงอาจเป็นแค่ภาพฝัน เพราะไม่แน่ใจว่าระหว่างการติดโควิด-19 กับได้รับความรุนแรงภายในบ้าน ทางเลือกไหนน่ากลัวกว่ากัน!?

การเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19’ ส่งผลให้เกิดมาตรการการกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อไวรัสนั้น แต่อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวอย่างน่ากังวล

นิยามของ ความรุนแรงในครอบครัว คือการทำร้ายร่างกายหรือสุขภาพของคนในครอบครัว หรือบังคับ ข่มเหงให้กระทำความผิด ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น สภาพแวดล้อมไม่ดี ติดการพนัน ทะเลาะวิวาท ติดสุรา ยาเสพติด และมีความเครียดทางเศรษฐกิจ บุคคลที่พบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหรือบุตรบุญธรรม ปู่ย่า ตายาย ญาติ และคนในครอบครัวเช่น หลาน ลูกสะใภ้ ลูกเขย

158557419137

  • บ้านสถานที่แห่งความเปราะบาง 

ทุก ๆ 1 นาทีจะมีผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาถูกทำร้ายร่างกายโดยคนในครอบครัวมากถึง 20 คน และ 1 ใน 4 ของเหยื่อคือได้รับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจขั้นร้ายแรง (อ้างอิงจาก The National Coalition Against Domestic Violence’s  Vision) 

สำหรับประเทศไทย สถิติในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ปี 2561 มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี สูงถึง 83.6% เฉลี่ยมากถึง 5 คนต่อวัน 

จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยตัวเลขสถิติที่น่าตกใจว่า ในแต่ละวันมีผู้หญิงต้องเสียชีวิตไปโดยเฉลี่ย 137 คนทั่วโลก เหตุเพราะถูกคู่ครองหรือคนในครอบครัวสังหาร 

ซึ่งเท่ากับว่า "บ้าน" คือสถานที่ที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงจะถูกฆาตกรรมมากที่สุดและเป็นสถานที่สำคัญที่เกิดความรุนแรงในครอบครัว

ดังนั้นแล้วการกักตัวอยู่บ้าน ดูซีรีย์ที่ค้างไว้ อ่านหนังสือริมระเบียง อาจจะไม่ใช่ภาพฝันของ ‘บ้าน’  สำหรับใครหลายๆ คน เพราะไม่แน่ใจว่าระหว่างการติดเชื้อไวรัส กับได้รับความรุนแรงภายในบ้าน ทางเลือกไหนน่ากลัวมากกว่ากัน 

158557426525

  • CORONAVIRUS กลายเป็นข้ออ้างของความรุนแรงในครอบครัว 

Wan Fei ผู้ก่อตั้งองค์กรต่อต้านความรุนแรงในสาธารณะรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ตั้งแต่จีนมีการล็อคดาวน์ประเทศก็มีรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า 

เช่นเดียวกับคำสัมภาษณ์ของ Liz Thomas หัวหน้าองค์กรช่วยเหลือสังคมในสหรัฐอเมริกาที่เปิดเผยกับสำนักข่าว ABC ว่า ตลอดสัปดาห์ที่สหรัฐมีมาตรการกักตนเองอยู่ในบ้าน มีผู้หญิงถูกข่มขู่และบีบบังคับโดยคนในครอบครัวอย่างน้อย 6 กรณี นอกจากนี้สถิติการร้องเรียนยังเพิ่มขึ้นจาก 120 ครั้งต่อสัปดาห์เพิ่มเป็น 209 ครั้ง

ผู้หญิงเหล่านั้นถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ออกจากสถานที่พัก ถูกทารุณกรรม และไม่สามารถร้องขอให้ใครช่วยเหลือได้เช่นกันด้วยเหตุผลว่าพวกเธอติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 

Thomas กล่าวว่าโรคระบาดโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวแย่ลง ไม่ใช่เฉพาะในกรณีที่ภาวะครอบครัวเปราะบางอยู่แล้ว แต่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีภาวะปกติเพราะมีความเครียด ความกดดัน จากสภาวะเศรษฐกิจมากระตุ้น

นอกจากนี้ยังนิวยอร์กไทม์ออกบทความเรื่อง Where Can Domestic Violence Victims Turn During Covid-19? ที่อธิบายว่าความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้นในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการกักตัวอยู่ใน "บ้าน"

ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่โดนผลกระทบจากเชื้อโคโรน่าไวรัส เพราะองค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ออกแถลงการณ์ว่าเด็กทั่วโลกหลายร้อยล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้านในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เช่น การถูกละเมิด ความรุนแรง การถูกแสวงประโยชน์ การถูกกีดกันจากสังคม รวมถึงการถูกแยกจากผู้ปกครอง

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ เผยว่า "ตอนนี้ผลกระทบของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้แพร่กระจายไปถึงเด็ก และครอบครัวจำนวนมหาศาล หลายโรงเรียนปิดการเรียนการสอน พ่อแม่ผู้ปกครองต่างพยายามดูแลลูกอย่างเต็มที่ ในขณะความเสี่ยงด้านความรุนแรงและการถูกแสวงประโยชน์ก็มากขึ้น"

ในอดีตที่ผ่านมา พ.ศ. 2557-2559 มีสถิติแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนป้องกันเชื้ออีโบล่า และประเทศเซียร์ร่าลีโอน พบอัตราการการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงถึง 14,000 ราย ซึ่งมากกว่าสองเท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดเชื้ออีโบล่าเช่นกัน 

  • สามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร 

ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวช่วงไวรัสโคโรน่าระบาด กำลังกลายเป็นเรื่องที่หลายประเทศและหลายองค์กรกำลังตระหนักถึง 

องค์กรอนามัยโลก (WHO) เขียนรายงาน COVID-19 and violence against women : What the health sector/system can do คือข้อปฎิบัติในการแก้ปัญหาความรุนแรงของผู้หญิงในช่วงการระบาด COVID-19 ขององค์กร โดยแบ่งเป็นข้อๆ ได้แก่ 

- รัฐบาลและผู้ออกนโยบายควรจัดเตรียมมาตรการจัดการกับความรุนแรงในครอบครัว

- มีสิ่งอำนายความสะดวกหรือหน่วยบริการในการแจ้งขอความช่วยเหลือ เช่นสายด่วน 

- หลังจากมีการร้องเรียน เจ้าหน้าที่ควรเข้าถึงอย่างรวดเร็ว การฟังอย่างเห็นอกเห็นใจและ ใช้วิจารญาณ เพื่อให้ความปลอดภัยต่อผู้แจ้ง 

- ด้านองค์กรควรมีแผนหรือมาตรการดูแลความรุนแรงของพนักงาน 

- ประชาชนหรือคนในชุมชนควรมีการสอดส่องและตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในครอบครัวบริเวณบ้านพักของตนเอง 

- ผู้ที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวควรขอความช่วยเหลือทางช่องทางต่างๆ 

ในประเทศไทย ยูนิเซฟไทยแลนด์และองค์กร Alliance (Alliance for Child Protection in Humanitarian Action) เสนอรัฐบาลไทยและหน่วยงานเกี่ยวกับการปกป้องและคุ้มครองเด็กว่าควรยกระดับการดำเนินงาน เพื่อประสานงานคุ้มครองเด็กให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น

- จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการเด็ก เจ้าหน้าที่ทางการศึกษาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้านความเสี่ยงต่าง ของเด็กในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนการป้องกันการเอาเปรียบและความรุนแรงทางเพศ รวมถึงวิธีการแจ้งเหตุอย่างปลอดภัย

- ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินถึงวิธีรับมือและรายงานความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ และการทำงานกับหน่วยบริการสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรง

-ยกระดับการแชร์ข้อมูลด้านการส่งต่อเรื่องร้องเรียนรวมถึงการบริการต่าง สำหรับเด็ก

  

อ้างอิง ncadv who nytimes abc end-violence unicef