‘เบี้ยโควิด’ พุ่งแตะ1พันล้าน คปภ.เตือนทุจริตเคลมส่อวืดเงินประกัน

‘เบี้ยโควิด’ พุ่งแตะ1พันล้าน คปภ.เตือนทุจริตเคลมส่อวืดเงินประกัน

คปภ. เผยยอดขายเบี้ย “ประกันโควิด” พุ่งแตะ 2 ล้านฉบับ รวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท สั่งคุมเข้มดูแลการจ่ายสินไหมไม่ให้สะดุด พร้อมเตือนผู้ซื้อประกันหลายฉบับ หวังทุจริตเคลมส่อ “ไม่ได้เงิน” หากตรวจพบจงใจทำติดเชื้อ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยอดขายประกันภัยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” มีคนสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก ณ 18 มี.ค. 2563 มียอดขายรวมทั้งระบบราว 2 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่าราว1 พันล้านบาท และมีจำนวน 25 บริษัทประกันที่ได้รับความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ดังกล่าวไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีบางบริษัทได้หยุดขายประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” จากสาเหตุที่โรคระบาดเริ่มแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และทางบริษัทประกันก็จะมีมาตรการในการติดตามความเสี่ยงและพิจารณาขีดความสามารถในการรับประกันภัยเพียงพอหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับการจ่ายสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยและสถานะของบริษัทในอนาคต

**ทุจริตเคลมส่อวืดเงินประกัน

ขณะเดียวกัน คปภ. ยังได้รับการรายงานว่า มีคนบางกลุ่มไปไล่ซื้อประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ และจงใจไปรับเชื้อโควิด-19 เพื่อหวังจะได้เคลมเงินประกัน ขอย้ำว่า ประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ กรณีการใช้สิทธิต้องใช้ด้วยความสุจริต ดังนั้น หากพบการใช้สิทธิไม่สุจริต คือ ทุจริต ประมาท เลินเล่อ ในกรณีนี้บริษัทประกันหากตรวจพบจะไม่รับผิด ไม่จ่ายสินไหมทดแทน และการอนุมัติเห็นชอบกรมธรรม์ใหม่คปภ. จะพิจารณาอย่างเข้มงวดมากขึ้น

“กรณีพฤติกรรมการทุจริตเงินประกัน เชื่อว่า คนที่ซื้อประกันทั่วๆไปคงไม่ทำ แต่ได้ข่าวว่ามีคนบางกลุ่มไปเผยแพร่แนวคิดนี้ให้ไปซื้อประกันโควิด-19 กันเยอะๆ แล้วไปเสี่ยงถ้าติดเชื้อโควิด-19 ได้เงินก่อนไปเลย 100,000 บาท ซื้อ7-8บริษัท ได้ทุนประกันเกือบล้านบาท ยอมที่จะเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เพราะว่ายังหนุ่มยังสาว ยังไม่ตายแน่นอน ซึ่งกลุ่มคนแบบนี้หากมาใช้สิทธิเรียกร้องสินไหมโดยทุจริต หรือพิสูจน์แล้วว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็อาจจะเจ็บตัวหรือป่วยฟรี”

**คปภ.สั่งคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกัน

ส่วนในระยะถัดไปถ้ามีการเคลมสินไหมประกันโควิด-19 คปภ. เชื่อว่า อาจจะมีประเด็นปัญหาหรือมีข้อร้องเรียนการ

เคลมประกันดังดล่าว ดังนั้น คปภ. จึงได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกัน และกำชับให้บริษัทประกันภัย มีกระบวนการร้องรับหากเกิดข้อพิพาทตรงนี้ เพื่อให้ผู้เอาประกันเกิดความสบายใจว่าจะได้รับการดูแลตามสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนกรณีเริ่มมีคำถามจากผู้เอาประกันภัยว่า ถ้ารัฐบาลประกาศยกระดับให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นโรคระบาดขั้นรุนแรงเป็นวงกว้าง หรือ “ระยะที่3” จะเป็นช่องทางให้บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายเงินสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19ที่ซื้อไปแล้วได้หรือไม่

นายสุทธิพล ยืนยันว่า คปภ. ได้ดำเนินการออกคำสั่งนายทะเบียน เมื่อวันที่17 มี.ค. 2563 ให้บริษัทประกันภัยกำหนดในกรมธรรม์ โดยไม่ให้ถือว่า การติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคที่บริษัทประกันจะหยิบยกขึ้นมาอ้างเพื่อปฏิเสธการรับผิดในระหว่างที่รัฐบาลมีมาตรการป้องกันและลดโอกาสการติดเชื่อนี้

“แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดระยะที่2 หรือระยะที่3 ในระยะข้างหน้า หรือประกาศเป็นโรคระบาดร้ายแรงต่างๆ บริษัทประกันจะไม่สามารถหยิบยกเงื่อนไขเหล่านี้มาปฏิเสธไม่จ่ายสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถทำได้แน่นอน ขอให้ผู้เอาประกันสบายใจได้”

ทั้งนี้แนะนำว่า ผู้เอาประกันภัยที่สนใจซื้อประกันโควิด-19 ควรดูเงื่อนไขการรับประกันให้เข้าใจ เพราะว่าเงื่อนไขจะไม่คุ้มครองในสภาพที่เป็นมาก่อนทำประกัน ซึ่งถ้าตอนจะทำประกันติดเชื้อโควิด-19 แล้วบอกว่าไม่ติดเชื้อดังกล่าว ก็จะมีปัญหาตอนเคลมสินไหมไม่สามารถเคลมได้ เพราะไม่ได้บอกความจริง ซึ่งถ้าติดเชื้อโควิด-19 ตอนทำประกันจะทำไม่ได้

รวมถึงไม่คุ้มครองผู้ที่เดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง ในระยะเวลา14วันก่อนทำประกัน , รับประกันเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในประเทศไทยเท่านั้น ไม่รับประกันผู้ติดเชื้อ ผู้ที่ถูกกักตัว หรือผู้ต้องสงสัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และที่สำคัญคือ จะเริ่มความคุ้มครองโดยมีระยะเวลารอคอย14วัน เพื่อป้องกันกรณีผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมาทำประกัน

อย่างไรก็ตามคนที่มีประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพอยู่แล้ว หากเกิดกรณีเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 บริษัทประกันให้ความคุ้มครองจ่ายค่าสินไหมแน่นอน ยกเว้นมีเฉพาะประกันชีวิตที่จ่ายเฉพาะการตาย ซึ่งก็สามารถพิจารณาซื้อประกันโควิดโดยเฉพาะเพิ่มเติมที่มีค่ารักษาพยาบาล การติดเชื้อขั้นโคม่าและโคม่าจนเสียชีวิต จ่ายชดเชยรายวันนอนโรงพยาบาลได้ด้วย ทำให้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น

**ชงประกันโควิดผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนี้ กรณีอัตราเบี้ยประกันภัยโควิด-19 สามารถปรับลดได้อีกหรือไม่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เบี้ยประกันภัยโควิด-19 ค่าเบี้ยต่ำสุดที่ 99 บาทต่อปี เทียบกับความเสี่ยงที่บริษัทประกันต้องแบกรับถือว่า สมเหตุสมผลแล้ว และถ้าค่าเบี้ยสูงขึ้น ความคุ้มครองจะสูงขึ้นตามอยู่แล้ว

ในส่วนทางกระทรวงการคลัง ยังมีความเป็นห่วงประชาชนให้การบ้าน คปภ. คิดรูปแบบประกันโควิด-19ที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ล่าสุด คปภ. มีแนวคิดประกันภัยโควิด-19สำหรับผู้มีรายได้น้อย สำหรับบัตรสวัสดิการของรัฐ มีจำนวนกว่า14ล้านคน กรณีเจ็บป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือจนมีอาการโคม่าและโคม่าจนเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด-19 รับเงิน 100,000 บาท และมีค่าชดเชยรายวันวันละ300บาทไม่เกิน30วัน ค่าเบี้ย99บาท ระยะเวลาคุ้มครอง1ปี โดยขณะนี้คปภ. ได้นำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป