แพทย์ชี้หากผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 33% ต่อวัน ยอดพุ่ง 3.5 แสน ในอีก 30 วัน

แพทย์ชี้หากผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 33% ต่อวัน ยอดพุ่ง 3.5 แสน ในอีก 30 วัน

แพทย์คาดสถานการณ์โควิด-19 ในอีก 30 วันข้างหน้า ผู้ป่วยอาจทะลุ 3.5 แสนราย หากยังมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระดับที่พบปัจจุบัน แต่หากมีมาตรการปิดโรงเรียน ปิดประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ยอดเฉลี่ยจะต่ำลงราว 20% ย้ำการป้องกัน สำคัญกว่าการรักษา

วันนี้ (20 มีนาคม) รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อธิบายภายในงานแถลงข่าวพิธีมอบเงินสนับสนุนการจัดซื้อเครื่อง ECMO และเครื่องช่วยหายใจ เพื่อผู้ป่วย COVID-19 ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลว่า การแพร่กระจายของโรคต่างๆ ทั่วโลก มีอยู่มากมาย เช่น เอชไอวี แต่ตอนนี้เป็นโควิด-19 สิ่งสำคัญเวลายอดผู้ติดเชื้อเมื่อสูงมากๆ เราก็เอาไม่อยู่ จากเคสในประเทศไทย 16 – 18 วันแรก เป็นเคสที่มาจากเมืองจีน หลังจากนั้นผู้ป่วยเริ่มมีภายในประเทศ มีคนนำเข้ามาแพร่ต่อปละปลาย แต่ในระยะหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ทุกวัน เหมือนเรากำลังจะโต้คลื่นซึ่งไม่รู้ว่าเป็นสึนามิหรือเป็นคลื่นเล็กๆ

“หากดูสถานการ์ต่างประเทศ พบว่า จะมี 2 กลุ่ม คือ “ประเทศกลุ่มที่ติดเชื้อมาก” เช่น อิตาลี อิหร่าน อังกฤษ ค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นแต่ละวันอยู่ที่ 33% และ “กลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อน้อย” เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จะเห็นว่ามีมาตรการปิดโรงเรียน ปิดประเทศ การทำมาตการต่างๆ ยอดจะต่ำค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% ต่อวัน ถามว่าเราอยากได้อะไร เราเพิ่งขึ้น 200 รายมาระยะแรก เป็นช่วง Golden period เราเลือกได้ว่าจะเป็นอย่างอิตาลี สเปน อิหร่าน หรือเราอยากเป็นแบบสิงคโปร์ ฮ่องกง”

“เมื่อวาน (19 มีนาคม) มียอดผู้ป่วยเพิ่ม 60 ราย หมายถึง เราเข้าใกล้อัตราเฉลี่ย 33% หากประเทศไทยยังรักษาระดับอัตราการเพิ่มของผู้ป่วย 33% ต่อวันต่อไป ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุข คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน 351,948 ราย ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน 52,792 ราย และผู้ป่วยวิกฤตภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน 17,597 ราย เราคงไม่อยากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หรือให้ถึงวันที่เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอจะดูแลทุกคนที่มีปัญหา”

“หากเรากดลงมาเหลืออัตราผู้ป่วยใหม่อยู่ที่เฉลี่ย 20% ต่อวัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จะอยู่ที่จำนวน 24,269 ราย ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน 3,640 ราย ผู้ป่วยวิกฤตภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน 1,213 ราย”

ทั้งนี้ ปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขของไทย จำนวนแพทย์โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน รวม 37,160 คน พยาบาล 151,571 คน แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ แพทย์ 29,449 คน พยาบาล 126,666 คน โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ 7,711 คน พยาบาล 24,905 คน

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราอาจจะคิดว่ามีแพทย์เยอะ แต่ต้องเรียนให้ทราบว่า หมอทุกคนไม่ได้เชี่ยวชาญโรคปอด นอกจากนี้ เตียงต้องรองรับผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความจำเป็น เช่น ผู้ป่วยหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก หรือคนไข้ที่จำเป็นต้องรักษา เราไม่สามารถเอาโรงพยาบาลทั้งหมดรองรับคนไข้ที่เป็นโควิด-19 ได้ ไม่อย่างนั้นคนไข้ทั้งหมดก็ต้องสละชีพเพื่อโควิด-19

  • มาตรการที่จำเป็นต้องใช้

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าวต่อไปว่า “ในระยะที่ 1” มีคนติดเชื้อจากข้างนอกมาสู่พื้นที่ของเรา มาตรการที่ควรใช้ คือ การทำ Containment ปิดกั้นให้เข้ามา เช่น การระงับการเดินทาง ของคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาในประเทศเรา

“ระยะที่ 2” คนที่ติดเชื้อได้แพร่ให้กับคนของเรา มาตรการที่ควรใช้คือ การตรวจจับคนติดเชื้อให้ได้ และนำไปกักกัน เพื่อแยกออกจากคนในสังคม (Isolation) และการนำคนที่มีประวัติไปสัมผัสกับคนที่ติดเชื้อ ไปกักกันเพื่อเฝ้าระวัง จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค (Quarantine) รวมถึงปิดพื้นที่เสี่ยง (Mitigation) เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง ที่มีคนติดเชื้อ ทั้งนี้ การใช้วิธีคัดกรองด้วยการวัดไข้ อาจไม่มีความไวเพียงพอ ทำให้มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อหลุดรอดไปได้

หากเข้า “ระยะที่3” คือ คนในพื้นที่ได้แพร่ไปให้แก่กัน ขยายวงไปเรื่อยดัง มาตรการที่ต้องรีบทำคือปิดประเทศ ปิดเมือง ไม่ให้คนที่ติดเชื้อใหม่จากข้างนอกเข้ามา และไม่ให้คนติดเชื้อของเราไปแพร่ให้กับประเทศอื่นๆ เพราะเชื้อมีอยู่ทั่วไป มีโอกาสติดเสมอ หากรีบทำ จะสามารถตัดวงจรของการระบาดได้ โดยควรมีระยะเวลาอย่างน้อยเท่ากับระยะฟักตัว บวกระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื่อได้ คือ ราว 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

 ผลการปิดประเทศของจีน

หลังจากประเทศจีนประกาศนโนบายปิดประเทศจนถึงกลางกุมภาพันธ์ สามารถลดการเล็ดรอดออกนอกประเทศของกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด -19 ไปได้ 70.5% หากไม่ประกาศนโยบายห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ คาดว่าจะมีเคสอย่างน้อย 779 ราย ที่ออกนอกประเทศไปก่อนกลางเดินกุมภาพันธ์ ขณะที่ช่วง 3.5 สัปดาห์แรกของการประกาศนโยบายนี้ สามารถลดการเล็ดรอดของผู้ป่วยออกนอกประเทศไปได้ถึง 81.3%

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศจีนถือว่าปิดและควบคุมได้ดี ประเทศจีนแพร่หนักเพียงไม่นาน  และสามารถยับยั้งได้ แต่เขาเป็นประเทศที่สั่งได้ เราเป็นประเทศที่เราต้องช่วยกัน ต้องขอให้ทุกท่าน ร่วมมือร่วมใจกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ เพราะการป้องกันมีความสำคัญมากกว่าการรักษา ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีน ขอให้อยู่นิ่งๆ อย่าไปไหนมาไหนมาก จะช่วยลดการติดเชื้อได้