บจ. ทยอยปิดบริการ-สาขา ยอม'เจ็บ'หวังหยุดวิกฤติ

บจ. ทยอยปิดบริการ-สาขา  ยอม'เจ็บ'หวังหยุดวิกฤติ

ผลตอบรับทันทีจากกลุ่มผู้ประกอบการ หลังภาครัฐประกาศยกระดับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 สั่งปิดสถานบริการทั่วประเทศเป็นเวลา 14 วัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ท่ามกลางตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น

    โดยโฟกัสไปที่การปิดหรือหยุดสถานที่แหล่งชุมนุมของคนจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนรัฐบาลและเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และสถาบันกวดวิชารวมทั้งสถานที่มีโอกาสจะสัมผัสหรือแพร่เชื้อได้ จะขอให้หยุดหรือปิดบริการชั่วคราว เช่น สนามมวย สนามกีฬา และอาจจะให้ครอบคลุมถึงโรงภาพยนตร์

     ทั้งนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 ตามเกณฑ์ของภาครัฐ และไม่ได้ใช้มาตรการยาแรงอย่าง การประกาศปิดเมือง เหมือนในยุโรป สหรัฐ หรือแม้แต่ประเทศในเอเชียด้วยกันที่ประกาศไปแล้วก็ตาม

    หากแต่ทำให้ประชาชน และภาคเอกชนตื่นตัวพร้อมรับกับกิจวัตรประจำที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้านประชาชนเห็นปรากฎการณ์กวาดซื้อสินค้าจำเป็นจนหมด ทำให้ราคาสินค้าบางชนิด เช่น อาหารสด เริ่มมีปรับตัวสูงขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยภัยแล้งที่น่ากังวลใจอยู่แล้ว

    ด้านผู้ประกอบการเอกชนหลายรายต้องประกาศหยุดบริการทันที ในกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย บริษัท เมเจอร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ประกาศปิดบริการชั่วคราว ทุกสาขา ทั่วประเทศ และสาขาในต่างประเทศ เช่น กัมพูชาและลาว รวม 171 สาขา 815 โรง ตั้งแต่วันที่ 18-31 มี.ค. และเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 1 เม.ย.นี้

     ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหาร MAJOR รับว่ามีหนังเข้าคิวฉายน้อยลงในไตรมาส 1ทำให้ต้องเลื่อนหนังฟอร์มใหญ่ไปฉายครึ่งปีหลัง รวมทั้งจำนวนผู้ใช้บริการทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงทำให้มีผลกระทบต่อรายได้เต็มไตรมาส หากสถานการณ์ยังรุนแรงทางผู้บริหารมีแผนเตรียลดค่าใช้จ่ายเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวจำนวนกว่า 700 คน

     ตามมาด้วยบริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA ทำธุรกิจร้านนวดสปา ภายใต้แบรนด์ “Let's Relax” “RarinJinda Wellness Spa” และแบรนด์ บ้านสวนมาสสาจ รวมทั้งธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร

     ประกาศหยุดให้บริการ ระรินจินดา, เวลเนส สปา, เล็ทส์ รีแลกซ์ สปา, บ้านสวน มาสสาจ และสเตรช มี บาย เล็ทส์ รีแลกซ์ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 33 สาขา พร้อมรับมือสถานการณ์รุนแรง ด้วยการขอลดค่าเช่าพื้นที่ ลดเวลาทำงานหมอนวดบางส่วนลง ลดเงินเดือนผู้บริหาร และพิจารณาแผนขยายสาขา

     บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ปิดสาขาในประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกาศปิดประเทศ ตั้งแต่ 18 -31 มี.ค. 2563 ซึ่งมีผลกระทบต่อยอดขายประมาณ 2 % ของยอดขายรวมทั้งบริษัท   เช่นเดียวกับ บริษัท อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ INGRS ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ ในไทยและประเทศอาเซียน ประกาศ INGRS ปิดบริษัทย่อยทั้งหมดในมาเลเซีย 18-31 มี.ค.

    ขณะที่ธุรกิจขนส่งมวลชนกลายเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงเริ่มได้รับผลกระทบจากไวรัสและนโยบาย work from home ที่ธุรกิจเอกชนประกาศให้พนักงานเริ่มทำงานที่บ้านกันมากขึ้น เพื่อลดการติดเชื้อส่งผลให้การเดินทางตามรถไฟฟ้าเบาบางยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนมีผู้ใช้บริหารหนาแน่นปรากฎภาพผู้ใช้บริการบางตา

    ธุรกิจ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้รับผลกระทบไปตามๆกัน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย คาดจำนวนผู้ใช้บริการราว 1.3-1.4 ล้านคนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลดลง 10-20 % โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวน่าจะกระทบหนักสุด หากรวมกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วยที่หายไป ซึ่งมีผู้โดยสารราว 7.5 แสนคน หากลดลง 10 % หรือลดลง 7.5 หมื่นคน ซึ่งมีโอกาสหายไปมากถึง 20 % มองราคาที่ 8 บาท

   นอกจากนี้สายสีน้ำเงินส่วน BEM จะกระทบหนักสุดในโดยพบว่าภาวะปกติจะมีจำนวผู้โดยสาร 4.5 แสนคน หากลด 10 % หรือลดลง 4.5 หมื่นคน จะกระทบกำไรสุทธิราว 5 % พร้อมประเมินราคาเป้าหมาย BEM เหลือหุ้นละ 6 บาท