'อุปกรณ์ฉายแสงกําลังต่ำ' ความหวังใหม่ผู้ป่วย ‘อัลไซเมอร์’

'อุปกรณ์ฉายแสงกําลังต่ำ' ความหวังใหม่ผู้ป่วย ‘อัลไซเมอร์’

นักวิจัย มจธ. เร่งสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์อิงสรีระศีรษะมนุษย์ ทดสอบ “อุปกรณ์ฉายแสงกําลังต่ำรักษาโรคอัลไซเมอร์” เตรียมลงสนามสู่การใช้งานจริงภายในปีนี้ เผยส่งผลประโยชน์ต่อสังคม ลดจำนวนผู้ป่วยโรคสมอง ลดค่าใช้จ่ายการนําเข้ายาจากต่างประเทศ

โรคความจําเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุดมากถึง 60-80% ของภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามคนไทยและประชากรทั่วโลกมายาวนาน โดยในระยะหลังมีการตรวจพบโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตนเองกําลังเป็นโรคนี้ อีกทั้งโดยทั่วไปผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการและสามารถวินิจฉัยพบเมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปี จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จํานวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศไทยในปี 2558 มีประมาณ 6 แสนคน และคาดว่าจะเพิ่มจํานวนสูงขึ้นเป็น 1.1 ล้านคน ในปี 2573

เจาะลึก 10 มม.ไม่ทำลายเยื่อสมอง

158444934195

รศ.อนรรฆ ขันธะชวนะ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความต้องการในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ จึงริเริ่มศึกษารวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพของแสงกําลังต่ำต่อเซลล์ประสาทในระดับห้องปฏิบัติการ และสังเคราะห์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกในการรักษากระทั่งได้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์ฉายแสงกําลังต่ำสําหรับรักษาโรคอัลไซเมอร์” ที่ผ่านการประยุกต์ใช้แสงกําลังต่ำ หรือแสงย่านความคลื่นสีแดงใกล้อินฟราเรด 600-1100 นาโนเมตร ซึ่งแสงดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ปลอดภัยต่อเซลล์ ไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการฉายแสง ภายใต้ระยะเวลาของโครงการ 2 ปี

158444938035

งานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากแพทย์สมองโรงพยาบาลรามาธิบดี นําโดย ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด และยังได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นําโดย รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญชโรจน์ ที่ให้คําแนะนําและบ่งชี้ถึงปัญหาในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ จึงนำมาสู่การบําบัดด้วยแสงกําลังต่ำมาใช้รักษาหรือบรรเทาอาการ เนื่องจากแสงกําลังต่ำมีความสามารถในการลดอาการอักเสบ หรือความเป็นพิษของโปรตีนเบต้าอมัยลอยด์ ซึ่งเป็นโปรตีนสําคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยแสงกําลังต่ำนี้มีกลไกที่สามารถกระตุ้นการทํางานของเซลล์ประสาทให้มีความแข็งแรงและฟื้นฟูความจําได้อย่างมีนัยสําคัญ

รศ.อนรรฆ อธิบายเสริมว่า กระบวนการฉายแสงกําลังต่ำด้วยแสงความยาวคลื่นเดี่ยว (Single wavelength) ซึ่งใช้แสงในช่วงความยาวคลื่นสีแดง และใกล้อินฟราเรดฉายลงบนเซลล์ประสาทที่เกิดการบาดเจ็บเนื่องจากโปรตีนเบต้าอมัยลอยด์ แสงนี้สามารถทะลุทะลวงกะโหลกศีรษะไปยังเนื้อเยื่อสมองส่วนที่เกิดโรคได้ลึกสูงสุดถึง 10 มิลลิเมตร โดยไม่ทําให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อสมองได้รับความบาดเจ็บเสียหาย

อัตราการอยู่รอดสูงกว่ารักษาด้วยยา

เทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่นี้ที่กำลังค้นคว้าวิจัยนี้สามารถกระตุ้นการทํางานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูความจํา และบรรเทาอาการสมองเสื่อมได้โดยไม่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างในร่างกายผู้ป่วยหรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ อีกทั้งเซลล์ประสาทที่เป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อได้รับการฉายแสงกําลังต่ำ สามารถเพิ่มอัตราการอยู่รอดได้สูงสุดถึง 75% โดยไม่แสดงความเป็นพิษ และมีอัตราการอยู่รอดสูงกว่าการรักษาด้วยยาถึง 18%

158444939761

อีกทั้งสามารถใช้รักษาร่วมกับยาในปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลต่อต้านประสิทธิภาพของยาและลดปริมาณการใช้ยาของผู้ป่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเซลล์ของมนุษย์มาไว้ในหลอดทดลอง จากนั้นใช้กระบวนการของอุปกรณ์ในการฉายแสงพบว่า ประสิทธิภาพในการทำงานสำเร็จผล แต่กระนั้นก็ต้องมีการทดลองในขั้นตอนโมเดลทางคณิตตาสตร์อิงตามสรีระมนุษย์ ก่อนที่จะต่อยอดสู่การฉายจริงบนศีรษะมนุษย์ ซึ่งหากการทดลองสัมฤทธิ์ผล จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางคลินิกโดยคาดว่าจะสามารถนำร่องทดสอบภายในปี 2563 และต่อยอดสู่เชิงพาณิชยน์ในลำดับต่อไป

หากองค์ความรู้นี้สามารถ พัฒนาเป็นอุปกรณ์รักษาได้สําเร็จ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะได้รับอุปกรณ์ฉายแสงที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคสมองเสื่อมอื่นๆ หรืออาการทางบาดเจ็บทางสมองได้อีกด้วย ทั้งยังส่งผลประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมคือสามารถลดปัญหาทางสังคมลงอีกทั้งยังลดค่ายารักษา และค่าใช้จ่ายสําหรับดูแลผู้ป่วย ส่วนประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้นจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดที่ดีของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และช่วยในการลดค่าใช้จ่ายการนําเข้ายารักษาจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง” รศ.อนรรฆ กล่าว

158444941270