'COVID-19' กับสิทธิที่ 'ลูกจ้าง' ต้องรู้หากป่วย-ถูกกักตัว

'COVID-19' กับสิทธิที่ 'ลูกจ้าง' ต้องรู้หากป่วย-ถูกกักตัว

แจงสิทธิ "ลูกจ้าง" ใช้วันลาป่วย-ลากิจหยุดงาน กักตัวตรวจ COVID-19 ยังได้ค่าจ้าง หากลาเกิน 30 วันยื่นประกันสังคมขอรายได้ทดแทนได้ 50% 

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.63  ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างและลูกจ้างแรงงาน กรณีถูกกักตัวสังเกตอาการหรือป่วยจากไวรัส COVID -19 ว่า หากมีลูกจ้างแรงงานถูกทางการกักตัวเพื่อสังเกตุอาการ COVID-19 เป็นไป ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม ม.34 (1) และ ม.52 เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทั้งฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง

ฉะนั้น สิทธิของลูกจ้างจึงไม่ต้องไปทำงานให้นายจ้าง และไม่ถือว่าเป็นการขาดงานหรือทิ้งงาน แต่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ตามหลักไม่มีงาน เงินไม่จ่าย หรือโนเวิร์ค โนเปย์ แต่หากลูกจ้างใช้สิทธิวันลาตามกฎหมาย เช่น ลากิจ ลาพักร้อน หรือลาป่วย กรณีมีอาการป่วยจาก COVID-19 ที่เกิดจากการตรวจวัดร่างกาย เพราะมีไข้เกิน 37.5 องศา ย่อมถือว่า "ลูกจ้างป่วย" ซึ่งสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อลูกจ้างแจ้งการใช้สิทธิลาป่วยโดยชอบต่อนายจ้างแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย เว้นแต่ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิลาเพราะอาจจะไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากลาป่วยเกิน 30 วันแล้วในรอบปี ทางออก คือลูกจ้างอาจใช้สิทธิหยุดพักร้อนได้และถ้าหากใช้สิทธิหยุดพักร้อนครบตามสิทธิตามกฎหมาย-กฎระเบียบแล้วก็อาจตกลงกับนายจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้ ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าวต่อไปว่า

อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมกรณีขาดรายได้ หากใช้สิทธิลาที่มีอยู่และลาป่วยจนครบ 30 วันแล้วส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วันสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้โดยจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรังจะได้รับไม่เกิน 365 วัน และผู้ประกันตนตาม ม.39 (ประกันตนเอง) ที่ต้องขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ ก็มีสิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของรายได้จริง ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรังจะได้รับไม่เกิน 365 วัน

"ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ อย่าละเลย ให้ไปเข้ารับการตรวจรักษา ซักประวัติในโรงพยาบาล ตามสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่ามีประวัติไปต่างประเทศหรือไม่ หรือมีญาติป่วยเป็นไข้หวัดหรือไม่ เพื่อแพทย์ประเมินอาการได้ถูกต้อง หากแพทย์สงสัยว่าจะเข้าข่ายโรค COVID-19 แพทย์จะส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องแล็บ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ" ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าวและว่า 

หากอาการไม่เข้าข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง และกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ เช่น อยู่ต่างจังหวัด ต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งตามระบบประกันสังคม จะสามารถเบิกจ่ายได้เป็นกรณีฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องถูกกักกันเพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิให้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรค COVID-19

และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรค COVID-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มี.ค.63 กำหนดให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตาม ม.36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 แล้ว จึงต้องช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ระดมทรัพยากร มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ