สธ.เผยสาเหตุกักตัวคนไทย แต่ไม่กักต่างชาติ

สธ.เผยสาเหตุกักตัวคนไทย แต่ไม่กักต่างชาติ

สธ.เผยสาเหตุกักตัวคนไทย แต่ไม่กักต่างชาติจากประเทศเสี่ยง ขณะที่เพิ่มสเปนเป็นประเทศที่ 10 เลี่ยงการเดินทาง คนกลับมาต้องกักตัวเอง 14 วัน ย้ำป่วยไปพบแพทย์ต้องแจ้งประวัติเดินทางไปทุกประเทศ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 มีนาคม 2563 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หรือโควิด-19(COVID-19) เนื่องจากสเปนเป็นประเทศในยุโรป และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มเร็วมาก คาดว่าสถานการณืระบาดต่อเนื่องในประเทซใกล้ๆกัน น่าจะเป็นการที่โรคไม่หยุดง่ายๆ จึงเข้าตามเกณฑ์ที่วางไว้คือมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1 พันราย และมีความต่อเนื่องของการพบู้ป่าวยมากกว่า 2 สัปดาห์ และดูท่าทีเป็นช่วงขาขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเพื่อจะได้ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค และหากเดินทางกลับมาจะต้องเฝ้าระวังตัวเองเป็นเวลา 14 วัน และพยายามแยกตัวเองให้สัมผัสกับบุคคลอื่นน้อยที่สุด ถ้ามีอาการป่วยให้รีบแจ้งและไปพบแพทย์โดยใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อด้วย


ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายประเทศในยุโรปมีผู้ป่วยจำนวนมาก คนไทยที่เดินทางกลับมา หากมีอาการป่วยจะต้องประวัติการเดินทางไปในทุกประเทศหรือไม่ นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า กรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้งดและหลีกเลี่ยงการเดินทางนั้น เจ้าหน้าที่ที่เป็นทีมตระหนักรู้สถานการณ์จะพิจารณาเป็นรายกรณี เพราะบางกรณีเป็นประเทศที่เพิ่งมีสถานการณ์โรคเพิ่มเติม ก็จะมีการอนุญาตให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19ได้ ดังนั้น คนที่ป่วยหากต้องไปพบแพทย์ก็ควรแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วยไม่ว่าจะไปประเทศใดก็ตาม เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยประเมินความเสี่ยง และสามารถทำให้แพทย์และผู้ป่วยรู้ว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับใด จะได้มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม เช่น การตรวจยืนยันเชื้อ และป้องกันแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นด้วย


คนไทยเสี่ยงแพร่กว่าต่างชาติ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มาตรการของไทยเน้นการกักตัวคนไทยที่มาจากต่างประเทศ ขณะที่ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า แบ่งเป็น 2 กรณี ถ้ามาจาก 4 ประเทศที่ประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย จะต้องทำตามกฎหมาย ด้วยการกักตัวหรือแยกตัวอยู่ในสถานที่ที่สามาริติดตามได้ทุกวันจนครบ 14 วัน สังเกตอาการตนเอง โดยไม่ไปยุ่งกับคนอื่น แต่หากเป็น 6 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน ยังเป็นคำแนะนำให้สังเกตอาการตนเอง และไม่ไปยุ่งกับคนอื่นในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก โดยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ เมื่อป่วยก็สามารถรายงานตัวและเข้าสู่การตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ 

“ถ้าดูในแง่ของความเสี่ยงแล้ว ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจะมาในระยะเวลาที่สั้นว่าคนไทย บางคนเดินทางเข้ามาโดยที่ยังไม่มีอาการป่วยก็เดินทางกลับแล้ว โอกาสแพร่เชื้อให้คนไทยจะน้อย ขณะที่คนไทยเมื่อกลับมาประเทศแล้วก็จะอยู่ยาว จะอยู่จนกระทั่งเริ่มป่วยแน่ถ้าติดเชื้อกลับมา เมื่อเริ่มป่วยก็จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน จนหมดระยะแพร่เชื้อ 2-3สัปดาห์ เพราะฉะนั้นหากดูความเสี่ยง ต่างชาติที่มาอยู่สั้นก็จะเสี่ยงแพร่เชื้อน้อยกว่าคนไทยที่มาอยู่ยาว และความใกล้ชิด ต่างชาติจะมาใกล้ชิดไทยก็น้อยกว่าคนไทยใกล้ชิดคนไทมยด้วยกัน การบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุด คือทำตามระดับความเสี่ยง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”  นายแพทย์โสภณกล่าว