ข้อปฏิบัติคนไทยรับมือโควิด-19 ในวันที่สถานการณ์เข้าระยะ3

ข้อปฏิบัติคนไทยรับมือโควิด-19 ในวันที่สถานการณ์เข้าระยะ3

แม้สถานการณ์โรคโควิด-19ในประเทศไทยยังอยู่ที่ระยะ2 มีการติดเชื้อภายในประเทศวงจำกัด แต่มีความเป็นไปได้ทุกเมื่อที่สถานการณ์จะเข้าสู่ระยะ 3 มีการติดเชื้อวงกว้างเกิดขึ้น หากถึงวันนั้น คนไทยจะต้องปฏิบัติตามอย่างไร ในการป้องกันตนเองและช่วยให้การระบาดสงบเร็ว

“กรุงเทพธุรกิจ”สอบถามนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ถึงประเด็นการปฏิบัติตัวในการป้องกันตนเองของคนไทยหากสถานการณ์โรคโควิด-19เข้าระยะ 3 ได้รับคำตอบว่า “ในการป้องกันโรค คนไทยปฏิบัติตัวเหมือนเดิม ไม่มีอะไรแตกต่าง”

ส่วนสิ่งที่ ไม่ควรทำ คือ “ถ้าไม่สบายก็อย่าไปแพร่เชื้อที่อื่น ซึ่งโรคติดต่อนี้ จะเป็นการป้องกันจากฝั่งผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมือ ไม่ไปแพร่เชื้อ ซึ่งไวรัสแพร่เชื้อเองไม่ได้ ต้องการคนช่วย ถ้าผู้ป่วยไปช่วยไวรัสก็จะลำบากในการคุมการแพร่เชื้อ” นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว

158331039241

ทั้งนี้ นายแพทย์ธนรักษ์ บอกว่า ถ้ายังไม่ป่วย และไม่อยากป่วยด้วย COVID-19 จะต้องทำอย่างน้อย 6 ข้อ ได้แก่ 1.ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ถ้าจะคิดง่ายๆ สถานที่ที่แออัดคือสถานที่ที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือเดินหลบผู้ที่มีอาการไอหรือจามได้ หรือเป็นสถานที่ปิดแคบ 2. หลีกเลี่ยงคนที่มีอาการไอ หรือจาม หากพบผู้ที่ไอหรือจามไม่ควรเข้าใกล้ ควรอยู่ห่างจากผู้ที่มีอาการไอหรือจามอย่างน้อย 2 เมตร เพราะการไอหรือจามมักจะทำให้น้ำลายกระเซ็นออกไปประมาณ 1-2เมตร

ในบางกรณีที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เช่น ต้องนั่งรถตู้โดยสารสาธารณะ แนะนำให้ให้หน้ากาก ถ้าหาหน้ากากอนามัยไม่ได้ สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ “หน้ากากผ้าช่วยลดความเสี่ยงได้” 3.อย่าเอามือที่ไม่สะอาดมาลูบจับบริเวณใบหน้า ตา จมูก หรือปาก 4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 5.รับประทานอาหารร้อน และ6. ใช้ช้อนกลาง

กรณีการเดินทางไปและกลับจากต่างประเทศนั้น กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำให้งดการไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค หากมีความจำเป็นต้องไปเมื่อกลับมาแล้วพบมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย อย่างใดอย่างหนึ่งให้ประสานสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อนำสู่ระบบการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป หากไม่พบอาการต้องสงสัย ให้กักตัวเองในที่พัก 14 วัน(Self quarantine at home) และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอยู่ห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร หยุดเรียน/ทำงาน งดร่วมกิจกรรมต่างๆ นอนห้องแยก ปิดปาก จมูกทุกครั้งที่ไอ จาม ทำความสะอาดที่พัก ของใช้ แยกของใช้ ทานอาหารแยกกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลาง ทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีหลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูกเจ็บคอ หายใจเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

158331042616

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคมีคำแนะนำการดำเนินการในส่วนต่างๆด้วย อาทิ การจัดกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หากไม่มีเหตุผลเร่งด่วนในการจัด ควรเลื่อน ออกไปก่อน หากจะต้องจัด ต้องมีระบบคัดกรองผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม มีน้ำมูกทุกวันก่อนเข้าร่วมกิจกรรม หากมีอาการงดเข้าร่วมและพบแพทย์ จัดเตรียมจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ จัดให้มีหน้ากากอนามัยแจกจ่ายทั่วถึง แนะนำผู้ร่วมล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดอุปกรณ์และบริเวณที่มีผู้สัมผัสมาก เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ด้วยน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดและ70%แอลกอออล์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม ควรงดเข้าร่ามกิจกรรม หากตนเองมีอาการป่วยของโรคระบบทางเดินหายใจ ควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจลสำหรับใช้ของตนเอง หากพบว่าป่วยหรือเริ่มป่วย ควรติดต่อขอเข้ารับการตรวจ หากเข้าได้กับอาการโรคระบบทางเดินหายใจงดเข้าร่วมกิจกรรมทันที หากสังเกตพบเห็นผู้ร่วมกิจกรรมไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ผิดปกติ แนะนำให้ไปพบเจ้าหน้าที่จุดปฐมพยาบาล และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจที่ไม่ป้องกันตนเอง

สถานศึกษา (กรณีระบาดในวงกว้าง ระยะเริ่มต้น) ​กรณีมีนักเรียน/บุคลากรกลับมาจากพื้นที่การระบาด แจ้งครูอาตารย์เพื่อให้ทราบข้อมูลประวัติการเดินทางและประวัติเสี่ยง สถานศึกษาแจ้งให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบ เพื่อติดตามอาการ ให้พิจารณาหยุดเรียน 1-2 สัปดาห์นับจากวันที่เดินทางออกจากพื้นที่ระบาด โดยให้พักอยู่บ้าน งดการออกไปในที่ชมุชนสาธารระ งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ช้อนส้อม และหลังเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดภายใน 14 วัน และมีอาการไข้ร่วใกับไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้ใส่หน้ากากอนามัย ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง

เมื่อมีการระบาด จัดให้มีการคัดกรองอาการไข้ ไอ น้ำมูก บริเวณทางเข้าประตูสถานศึกษาทุกเช้า เพื่อแยกผู้มีอาการไปยังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษาในเรื่องการดูแลผู้ป่วยขณะป่วยที่บ้าน และที่สถานศึกษา การพิจารณาปิดสถานศึกษา หากพบผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น หลายห้องเรียน หลายชั้นเรียน กรณีเป็นโรงเรียนประจำ ให้นักเรียน นักศึกษาอยู่แต่บริเวณหอพัก หากเป็นโรงเรียนไปกลับให้เน้นย้ำการอยู่กับบ้าน ไม่ออไปในที่ชุมนุมชน ​​

ควรมีการทำความสะอาดพื้นที่ที่นักเเรียน นักศึกษาใช้ร่วมกัน เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องดนตรี ลิฟต์ ของเด็กเล่น อุปกรณ์กีฬา อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง จัดให้มีอุปกรณ์สำหรับการล้างมือ หรือจัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ เช่น ภายในห้องเรียน โรงอาหาร โรงยิม เป็นต้น จัดเตรียมห้องพยาบาลสำหรับแยกนักเรียน นักศึกษาที่มีอาการทางเดินหายใจออกจากผู้ที่มีอาการป่วยอื่นๆ จัดระบบสื่อสารทำความเข้าใจ การดำเนินงาน ควบคุมการระบาดกับผู้ปกครอง และกรณีสถานศึกษามีรถรับ-ส่ง ให้ดำเนินการทำความสะอาดยานพาหนะบริเวณที่สัมผัสกับผู้ดดยสาร เช่น ราวจับ กลอนประตู เบาะนั่ง ที่เท้าแขน ด้วยน้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด และ 70 %แอลกอฮอล์ สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้

158331045058

อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศให้โรคโควิด-19เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 จะส่งผลให้สามารถมีการบังคับให้เกิดการดำเนินการในส่วนต่างๆมากขึ้นในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค ซึ่งเจ้าบ้าน เจ้าของสถานประกอบการหรือสถานที่ใดๆ จะต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคกรณีมีผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้ ภายใน 3 ชั่วโมง โดยพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถแจ้งได้ที่โรงพยาบาลอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่วนกลางโทรสายด่วน 1422 หากไม่แจ้งจะมีความผิดโษปรับ 2 หมื่นบาท

รวมถึง กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ชุมนุมชน โรงงาน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว สั่งให้ผู้ที่เป็นหรือเหตุควรสงสัยว่าเป็นโรคนี้ หยุดการประกอบอาชีพชั่วคราว และสั่งห้ามข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดด้วย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทัั้งปรับ

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะแพร่ไปได้รวดเร็วแค่ไหน สุดท้ายจะขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วย ถ้าทุกคนคิดอยู่เสมอว่า แม้เราจะติดเชื้อมาแล้ว แต่เราจะไม่แพร่เชื้อนี้ต่อไปให้คนอื่น เราจะให้โรคหยุดอยู่ที่เรา เราก็จะสามารถนับได้ว่าเราคือองค์ประกอบที่สำคัญของการหยุดการแพร่ระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง