'ดีเอสไอ' ลงพื้นที่สอบปมสิ่งปลูกสร้างบนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต 

'ดีเอสไอ' ลงพื้นที่สอบปมสิ่งปลูกสร้างบนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต 

"ดีเอสไอ" ส่งศูนย์ภาค-ศูนย์แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์สิ่งปลูกสร้างเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต 200 ไร่ ผลตรวจเบื้องต้นส่อเป็นพื้นที่ป่าไม้ ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.63 พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาคลงพื้นที่ร่วมกันกรมป่าไม้ตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด บริเวณพื้นที่รอยต่อต.วิชิตและตำบลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กว่า 200 ไร่ และจะส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศไปสนับสนุนข้อมูลการตรวจสอบพิกัดที่ดินให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เบื้องต้นคาดว่าที่ดินแปลงที่เป็นข้อพิพาทอาจเป็นพื้นที่ป่าไม้ ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของดีเอสไอร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวจัดเป็นพื้นที่ในจุดลับตา ไม่อยู่ในสายตาของประชาชนทั่วไป โดนพบว่าพิกัดที่ดินไม่ได้อยู่แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ (จากแผนที่ DSI Map) แต่มีความเป็นไปวาสอาจจะเป็นป่าไม้ ตาม พรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 คือที่ดินที่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ์ตาม พรบ.ที่ดิน โดยที่ดินนั้นยังไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน แต่มีการก่อสร้างจึงต้องตรวจสองต่อไปว่า มีขออนุญาตก่อสร้างหรือไม่ หากยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินแปลงใดยื่นขอก่อสร้างต่อเทศบาลตำบลวิชิต ทั้งนี้จากแผนประทุษกรรมการบุกรุกที่ดินในแถบจังหวัดอันดามัน พบว่ากลุ่มนายหน้าค้าที่ดินมักจะเข้าไปแผ้วถาง ตัดถนน เพื่อแสดงหลักฐานการถือครองทำประโยชน์ จากนั้น 4-5 ปี จะนำหลักฐานไปยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเครือข่ายอนุรักษ์แห่งหนึ่งได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้ตรวจสอบผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ได้ตัดโค่นไม้จากป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด ในพื้นที่รอยต่อตำบลวิชิตและตำบลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กว่า 200 ไร่ มีเป้าหมายในการปลูกพืชและยึดครองพื้นที่ เพื่อขอออกโฉนดในรูปแบบต่างๆ เช่น นส.3ก. จากนั้นจะนำไปสร้างบ้านพักตากอากาศ

โดยไม้ส่วนหนึ่งถูกนำไม้ไปแปรรูป บริเวณที่ทำการเทศบาลตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งที่ดินในจังหวัดภูเก็ตมีราคาสูง และพื้นที่ดังกล่าวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอ่าวฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวนิยมพักพื้นที่ภูเขาสูงมองเห็นวิวทิวทัศน์ทะเลในระยะไกล เป็นเหตุทำให้ฝนไม่ตกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และกระทบต่อน้ำในเขื่อนบางวาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงจังหวัดภูเก็ต