'โควิด-19' สะเทือน ยอด ‘รูดปรื๊ด’ ดิ่งหนัก ทุกหมวด

'โควิด-19' สะเทือน ยอด ‘รูดปรื๊ด’ ดิ่งหนัก ทุกหมวด

“นอนแบงก์” เผยยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 2 เดือนแรกปีนี้ “ชะลอตัว” ทุกหมวด เหตุผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย แถมวงเงินผ่อนขั้นต่ำลดลง เพื่อตุนสภาพคล่อง ดันเอ็นพีแอลเร่งตัวขึ้น หลายแห่งเร่งออกมาตรการช่วยลูกค้า

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว  ผลจากปัจจัยลบที่เข้ามากระทบรอบด้าน  ตั้งแต่งบประมาณปี2563 ล่าช้า ภัยแล้ง และล่าสุดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 กระทบกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก เริ่มส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศอย่างชัดเจน  สะท้อนจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 2เดือนแรกของปีนี้ที่ชะลอตัว

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ  "บัตรเครดิตเฟิร์สช้อยส์"  เปิดเผยว่า ในช่วง2เดือนที่ผ่านมา ยอดรูดใช้บัตรและการผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตเฟิร์สช้อยส์เติบโตกว่า 10% แต่หากเทียบกับการเติบโตของช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าเติบโตลดลง โดยช่วงเดียวกันของปีก่อนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตกว่า  20% ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก และมีปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆเข้ามากระทบ   ทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่าย  ส่งผลยอดการชอปปิงลดลงอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณการผ่อนชำระขั้นต่ำเพื่อรักษาภาพคล่องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน   โดยมีอัตราการชำระขั้นต่ำลดลงประมาณ1% สะท้อนว่า ช่วงนี้ลูกหนี้ที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทุกส่วน มีความจำเป็นต้องใช้สภาพคล่อง  ไปพร้อมๆกับการดูแลสถานะทางการเงินของตัวเอง เช่น  ไม่รูดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น 

ด้านแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการเร่งตัวอย่างมีนัยสำคัญ  บริษัทจึงได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอ เช่น ปรับลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจาก10% เหลือ5% และสินเชื่อบุคคลขั้นต่ำจาก5%เหลือ3% ,การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการพักชำระหนี้ไม่เกิน3เดือน ,การเปลี่ยนยอดหนี้บัตรและสินเชื่อบุคคลเป็นสินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยถูกลง และผ่อนผันวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินของสินเชื่อบุคคล ซึ่งสอดคล้องตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ประกาศออกมาล่าสุด

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทเห็นแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรชะลอลงในทุกหมวด แต่ยังไม่เห็นความผิดปกติของการใช้จ่ายหมวดไหนเป็นพิเศษ   โดยบริษัทยังไม่มีการปรับเป้าหมายปีนี้ และยังมีแคมเปญโปรโมชั่นใช้จ่ายผ่านบัตรในทุกหมวดอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2563 บริษัทตั้งเป้ามีจำนวนบัตรเครดิตเพิ่ม 320,000 ใบ จากปัจจุบันมีอยู่ 2.5 ล้านใบ และยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโต 10-12% จากปีก่อนที่เติบโต10.6%  ซึ่งบริษัทมีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาผ่อนชำระ จากสถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้ โดยเปิดให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ตลอด

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวลง น่าจะเริ่มเห็นชัดเจนหลังผ่านไตรมาสแรกของปีนี้ไปแล้ว ซึ่งบริษัทเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา ทั้งในส่วนลูกหนี้รายเดิมที่ประสบปัญหา จะเข้าไปช่วยเหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และระมัดระวังการปล่อยรายใหม่มากขึ้น  พร้อม ติดตามสถานการณ์คนที่ได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรอบนี้อย่างใกล้ชิด

“ตอนนี้เริ่มมีคำขอปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากท่องเที่ยวมาบ้างแล้ว  จำนวนยังไม่มีนัยสำคัญ เพียงแต่ต้องระมัดระวังเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจขาลงรอบนี้ กระทบในทุกกลุ่มไม่เฉพาะท่องเที่ยว แต่เราเคยผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว รับมือได้ ”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิตของบริษัท จะสิ้นสุดการดำเนินงานในปี2562 ณ สิ้นไตรมาสแรกปี2563 ดังนั้นต้องรอประเมินสถานการณ์ไตรมาสแรกของปีนี้ก่อน โดยปัจจุบันบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้