รับเหมากำไรทรุด ลุ้นมาตรการกระตุ้นรอบใหม่

รับเหมากำไรทรุด ลุ้นมาตรการกระตุ้นรอบใหม่

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหนักติดอันดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว จากดัชนีหุ้นไทย 1,495.09 จุด (21 ก.พ.) อยู่ที่ 1,340.52 จุด (28 ก.พ.)เป็นการปรับตัวลดลง 154.57 จุด หรือ 10.34 %

       ท่ามกลางมูลค่าตลาดหุ้นและหุ้นบิ๊กแคปที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า ตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดหนักในเอเชียและยุโรป   จากปัจจัยลบดังกล่าวทำให้เริ่มมองไปถึงมาตรการแพ็คใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจที่มีความวิตกกังกล่าวว่าจะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ (Recession)

      ภายในสัปดาห์นี้ตามที่นายกรัฐมนตรีเตรียมจะประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจรับมือกับโควิด-19 และภัยแล้ง ที่จะตามมา  ทำให้น่าจะได้เห็นทั้งมาตรการนโยบายการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการประชุม 25 มี.ค. นี้กับการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบปี   และนโยบายการคลังทั้งการอัดเม็ดเงินเข้าระบบ  มาตรการด้านภาษี   มาตรการท่องเที่ยว การเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน  

    ตามคาดการณ์หากมีมาตรการออกมาจริง กลุ่มที่ลงไปแรงทั้งภาคการท่องเที่ยว   ค้าปลีก อาหาร รวมถึง รับเหมาก่อสร้าง  โดยเฉพาะในกลุ่มหลังที่มีปัจจจัยบวกก่อนหน้ากับพรบ. งบปี 2563 ที่รัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายพร้อมกับการจัดทำแผนตั้งงบปี 2564 ไปพร้อมกันนั้นมีโอกาสที่จะเห็นรีบาวด์ได้ก่อน

    จากผลการดำเนินงานงวดปี 2562 ที่ออกมาในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังงานภาครัฐแทบจะไม่มีออกมา มีเฉพาะโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องทำให้งานในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่จึงหายไปจำนวนมาก

     รายใหญ่บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK  รายงานกำไรปี 2562 อยู่ที่ 1,777 ล้านบาท  ลดลง 40.34 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยมีสาเหตุมาจากรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างลดลง และค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น 

      ตัวเลขงานรอรับรู้ในมือ (Back log) ต่ำสุดที่ 39,000 ล้านบาท   จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับแสนล้านบาท อย่างไรก็ตามด้วยบริษัทมีการถือลงทุนในบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทำให้บริษัทและบริษัทย่อยมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจํานวน 1,806.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148.61 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็น 8.97 %

     ด้านบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ STEC  มีกำไร 1,483 ล้านบาท  ลดลง 8.23 %  จากปีก่อน  จากการวิเคราะห์ บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ มาจากการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู  โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ดีขึ้น  รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ ด้านอัตรากำไรขั้นต้นยังคงไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น  มี Backlog อยู่ที่ราว 9.1 หมื่นล้านบาท

     บริษัท ยูนิค  เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น  จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ  แจ้งกำไร  729 ล้านบาท ลดลง 9.19 มาจากงานก่อสร้างที่ลดลงส่งผลต่อรายได้ แต่เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายขายและบริหารลดลงจึงทำให้มาร์จิ้นเฉลี่ยปรับดีขึ้นเป็น 20.6% จาก 19.2% มีงานในมืออยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท

     รับเหมารายกลางบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ   จำกัด (มหาชน) หรือ NWR กลับขาดทุน 512 ล้านบาท จากปีก่อนกำไร 418 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้งานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ที่ลดลงถึง  27 % และ  48.75 % ตามลำดับ

     งวดดังกล่าวบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการฟ้องร้องลูกหนี้ค้างชําระนาน รวมถึงบริษัทและบริษัทยอยรับรู้ค่าใช้จ่ายจาก การปรับชดเชยสําหรับโครงการผลประโยชน์หลังออกจากงานจากเดิม 300 วันเป็น 400 วัน และรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จากปี 2561 ที่รับรู้กำไร

    นอกจากนี้รับเหมารายเล็ก บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO มีกำไร 409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.14 % สวนทางกับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง  เนื่องจากเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากจึงทำให้รายได้ เพิ่มขึ้น 9.64 %  แม้ว่าจะมีต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น  11. 52 % แต่บริษัทยังสามารถทำกำไรขั้นต้นได้ 3.21%