บอร์ด สปสช.ไฟเขียว! 'บัตรทอง' ครอบคลุมโรค 'โควิด-19'

บอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่ม “โควิด-19” รายการเบิกจ่ายชดเชย “กองทุนบัตรทอง” เพิ่มความชัดเจนการเบิกค่าใช้จ่าย ครอบคลุมทั้งป้องกัน ตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมอนุมัติใช้งบ 1,020 ล้านบาท หนุนโรงพยาบาลรับมือ
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.63 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในประเภท และขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง พร้อมอนุมัติหลักการให้ใช้เงินกองทุน รายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนไม่เกิน 1,020 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายในกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการกองทุนบัตรทอง
แม้ว่าการแพร่ระบาดของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 คือไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศ แต่ สปสช.จำเป็นต้องเตรียมงบประมาณรองรับไว้เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนการบริการของหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ให้กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในบัตรทองครอบคลุมดูแลทั้งการป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และมอบให้คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและดำรงชีวิต พิจารณารายละเอียดมาตรฐาน และแนวทางบริการ
ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. ยังได้มอบคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนพิจารณาแหล่งงบประมาณ และกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินงาน วิธี เงื่อนไข และอัตราการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยเบื้องต้นให้ สปสช. จ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับโรคติดเชื้อโควิด-19 จากเงินกองทุนรายการรายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนไม่เกิน 1,020 ล้านบาท และให้ติดตามผลการใช้งบประมาณ กรณีที่ไม่เพียงพอ ให้ดำเนินการเพื่อขอรับงบกลางจากรัฐบาลประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยงบประมาณที่อนุมัตินี้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ และงบประมาณในระบบปกติแต่อย่างใด
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ได้ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว และสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากกองทุนบัตรทอง เพียงแต่การกำหนดไว้ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขจะทำให้เกิดความชัดเจนในการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ภายใต้กองทุนบัตรทองยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ โดยท้องถิ่นสามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถจัดซื้อหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน เจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้ หรือบางพื้นที่อาจจะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนเพื่อป้องกันโรค ตอนนี้มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ต่อเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข พิจารณาออกประกาศเพื่อให้หน่วยบริการสามารถใช้เงินค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้าง และครุภัณฑ์สำหรับซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์หรือปรับปรุงพื้นที่ในหน่วยบริการมารองรับได้ ซึ่งเป็นวงเงินจำนวน 6,211 ล้านบาท โดยกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามคำสั่ง คสช. ที่ 37/2559 ข้อ 23(3)
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
"Weekly Oil" report 18 January 2021
‘หลักธรรมาภิบาล’ ขององค์กรไม่แสวงหากำไร