เปิดเส้นทาง 'ปู่ย่า' ป่วย COVID-19 กระทบคนนับร้อย!

เปิดเส้นทาง 'ปู่ย่า' ป่วย COVID-19 กระทบคนนับร้อย!

เปิดเส้นทางพร้อมผลกระทบ จากเคส "ปู่-ย่า" ไปเที่ยวญี่ปุ่น ติดเชื้อโคโรน่า2019 และปกปิดข้อมูล จนส่งผลกระทบวงกว้าง ต้องเฝ้าระวังนับร้อยชีวิต

จากกรณีที่วันนี้ (26 ก.พ.) ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 เพิ่มขึ้น 3 ราย เป็นคนไทยและอยู่ในครอบครัวเดียวกัน รายแรกเป็น ชายไทยอายุ 65 ปี มีประวัติเดินทางไปเที่ยวเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น กลับมา 3 วัน มีไข้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาส่งตัวเข้ารับการรักษาสถาบันโรคทรวงอก มีอาการปอดอักเสบ รายที่ 2 เป็นภรรยาของรายแรก อายุ 62 ปี ไปเที่ยวฮอกไกโดด้วยกัน มีอาการไข้ ไอ และรายที่ 3 เป็นหลานชายอายุ 8 ปี ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวด้วยกันแต่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายแรก 

กระทั่งภายหลัง บริษัท/หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สายการบินไฟลท์ที่ผู้ป่วยเดินทางมา จนถึงโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาตัว และที่ทำงานรวมถึงโรงเรียนซึ่งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดอยู่นั้น ได้ออกมาจัดการวิกฤติผ่านมาตรการต่างๆ นั้น 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ขอสรุปรวบรวม เส้นทางของ "ปู่-ย่า" พร้อมผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนี้ 

เปิดเส้นทาง 'ปู่-ย่า' จาก ซัปโปโร สู่ ไทย

  • 20 ก.พ. ปู่-ย่า เดินทางจาก ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น กลับสู่ประเทศไทย โดยเครื่องบิน สายการบินแอร์เอเชีย ไฟลท์ XJ621 ซัปโปโร-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 63

มาตรการสายการบินแอร์เอเชีย
- แจ้งผู้โดยสารที่เดินทางมากับเที่ยวบินดังกล่าว
- ให้ลูกเรือในเที่ยวบินดังกล่าวหยุดงาน 14 วันเพื่อสังเกตอาการ เฝ้าระวัง และตรวจเพิ่มเติม
- เพิ่มมาตรการพ่นสเปรย์และอบฆ่าเชื้อกับเครื่องบินลำดังกล่าวอีกครั้ง อย่างเข้มข้น

  • 23 ก.พ. ปู่ป่วย มาโรงพยาบาลบี.แคร์ฯ ด้วยอาการไข้ ไอ แต่ปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นปอดอักเสบ และให้รักษาตัวในโรงพยาบาล

  • 24 ก.พ. 

    ช่วงเช้า - แพทย์อายุรกรรมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด เข้าตรวจอาการ และสอบถามประวัติการเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง และผู้ป่วยปฏิเสธ

    ช่วงสาย - ผู้ป่วยเปิดเผยประวัติว่า ได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลจึงย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวในห้องความดันลบ

    ช่วงค่ำ - ผลตรวจเบื้องต้น พบเชื้อ COVID-19 ทางโรงพยาบาลบี.แคร์ฯ ได้แจ้งสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ทันที และย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลรัฐ


มาตรการโรงพยาบาลบี.แคร์

- บุคลากรที่สัมผัสกับผู้ป่วย ได้รับการตรวจ PCR for COVID-19 และ ตรวจเลือดเพื่อหา Antibody ของ Virus เบื้องต้น ผลตรวจไม่พบเชื้อไวรัส แต่ยังต้องตรวจซ้ำในช่วงเวลา 7-14 วัน
- ให้บุคลากรดังกล่าวหยุดงาน สังเกตอาการที่บ้าน และปฏิบัติตามแนวทางของกรมควบคุมโรค
- ทำการ Deep Clean ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และงดรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย

158272359150

จากการป่วยและปิดบังข้อมูลดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบดังนี้

  • ผู้สัมผัสใกล้ชิด(1) : ลูกชาย

สถานะ : ตรวจไม่พบเชื้อ, ติดตามเฝ้าระวังอาการ
ที่ทำงาน : ธนาคารธนชาต สาขาดอนเมือง

มาตรการธนาคารธนชาต
- ปิดสาขาดอนเมือง
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคเป็นกรณีพิเศษ (Big Cleaning)
- ให้พนักงานดังกล่าว(ลูกชาย) ตรวจสุขภาพ (ผลยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ) และให้หยุดปฎิบัติงานและแยกตัวเองเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน

  • ผู้สัมผัสใกล้ชิด(2) : หลานชาย วัย 8 ขวบ

สถานะ : ตรวจพบเชื้อ
โรงเรียน : พระหฤทัยดอนเมือง ป.3/4 

มาตรการโรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง
- หยุดสอบตั้งแต่บ่ายวันพุธที่ 26 ก.พ. เป็นต้นไป
- นร.ระดับประถมและมัธยม กลับมาสอบอีกครั้งวันที่ 2 มี.ค.63
- นักเรียนห้องป.3/4 (50 คน) อยู่ในช่วงเฝ้าระวังสังเกตอาการถึงวันที้่ 9 มี.ค. (กลับมาสอบ 10 มี.ค.)

  • ผู้สัมผัส

1) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล บี.แคร์ฯ (30-40 คน) 
2) ผู้ร่วมทริป
3) ผู้ร่วมไฟลท์บิน (ผู้โดยสาร, ลูกเรือ)
4) เด็กนักเรียนร่วมชั้นเรียนของหลาน (50 คน)

รวมผู้ต้องติดตามเฝ้าระวังทั้งสิ้น : นับร้อยคน