ไทยพบผู้ป่วย 'โควิด-19' เพิ่ม 3 ราย ยังไม่ใช่ “Super Spreader”

ไทยพบผู้ป่วย 'โควิด-19' เพิ่ม 3 ราย ยังไม่ใช่ “Super Spreader”

สธ.ยืนยันไทยพบผู้ป่วยโควิด-19เพิ่ม 3 ราย ครอบครัวเดียวกัน ติดตามผู้สัมผัสนับ 100 ราย ผู้ร่วมทริป-ผู้ร่วมเที่ยวบิน-นักเรียนร่วมชั้น ยันไม่ใช่ “Super Spreader” ขู่คนปกปิดข้อมูลมีความผิด ไทยยังอยู่ระยะ3

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19(COVID-19)ว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 เพิ่มขึ้น 3 ราย เป็นคนไทยและอยู่ในครอบครัวเดียวกัน รายแรกเป็น ชายไทยอายุ 65 ปี มีประวัติเดินทางไปเที่ยวเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น กลับมา 3 วัน มีไข้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาส่งตัวเข้ารับการรักษาสถาบันโรคทรวงอก มีอาการปอดอักเสบ รายที่ 2 เป็นภรรยาของรายแรก อายุ 62 ปี ไปเที่ยวฮอกไกโดด้วยกัน มีอาการไข้ ไอ และรายที่ 3 เป็นหลานชายอายุ 8 ปี ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวด้วยกันแต่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายแรก มีอาการน้อย ทั้ง 2 รายรักษาอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูรนอกจากนี้ มีผู้ป่วยที่รักษาหายดี แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้อีก 2 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 35 ปีและชายจีน อายุ 52 ปี  ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 40 ราย หายดีกลับบ้านแล้ว 24 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย


“ได้มีการติดตามผู้สัมผัสใกลิดชิดทั้งหมด 100 % รวมถึงติดตามผู้ที่ร่วมทริปเดียวกันในการไปเที่ยวฮอกไกโด และผู้ร่วมเที่ยวบินเดียวกันด้วย และกรณียังไม่ใช่ซุปเปอร์ สเปรดเดอร์(Super Spreader)ในประเทศไทย เพราะผู้ป่วยรายนี้เมื่อมีอาการป่วยก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และขณะนี้สถานการณ์โรคนี้ในประเทศไทยยังอยู่ระยะที่ 2 ยังไม่เข้าระยะที่ 3” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ติดตามผู้สัมผัสนับ 100 ราย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยยืนยันรายแรกที่เป็นปู่นั้น ขอตำหนิที่ไม่ยอมทำตามขั้นตอนคำแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำไว้ เมื่อกลับมาจากประเทศเสี่ยงแล้วยังติดต่อคนในบ้าน และยังสัญจรไปมาด้วยส่วนหนึ่ง ถ้ากรณีตรวจไม่เจอได้เร็วเสียก่อน โอกาสที่จะเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ได้ ที่เกาหลีใต้มีป้ามหาภัยแล้ว ประเทศไทยไม่อยากที่จะมีลุง ที่จะทำให้คนเดือดร้อนกันไปทั่ว อย่างกรณีลุงคนนี้ป่วย 1 คน ต้องตรวจติดตามคนสัมผัสประมาณ 50 คน หรือบางทีถึง 100 คน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยก็ 40 คนแล้ว รวมถึงคนในครอบครัวที่ไปทำงาน หลานที่ไปโรงเรียน และลูกเรือและผู้โดยสารในเที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคมีรายชื่อทั้งหมดแล้วจะติดตามอาการจนครบ 14 วัน และจะมีการเอาผิดกับผู้ป่วยรายนี้หรือไม่ ขอให้หายก่อนค่อยว่ากัน

สั่งหยุดห้องเรียนหลาน

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีที่ผู้ปกครองในโรงเรียนหลานที่ป่วยมีความกังวลนั้น จากการสอบสวนโรคพบว่า หลานที่ป่วยมีการสัมผัสใกล้ชิดเฉพาะผู้ร่วมชั้นเรียนเดียวกันหรือเรียนห้องเดียวกัน ซึ่งได้มีการสั่งให้เด็กทั้งหมดในห้องเรียนนั้นราว 50 คน หยุดเรียนเป็นเวลา 14 วันแล้วและย้ำให้หยุดอยู่บ้านเพื่อสังเกตอาการเท่านั้น ห้ามออกไปเที่ยว และเจ้าหน้าที่มีรายชื่อทุกรายเพื่อติดตามอาการจนครบ 14 วัน

ยังไม่ใช่ซุปเปอร์สเปรดเดอร์

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมกรณีคุณลุงรายนี้ถึงยังไม่ถือเป็นซุปเปอร์ สเปรดเดอร์ในประเทศไทย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเฉลี่ยผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ 1 คน จะแพร่ไปยังคนอื่นได้ราว 2 คนกว่า ส่วนผู้ที่จะเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์นั้นจะต้องแพร่ให้คนอื่นได้มากกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวหลายเท่า อาจจะแพร่ให้คนอื่นได้ 10-20 คน ซึ่งกรณีผู้ป่วยชายไทยรายล่าสุดนี้ จากการสอบสวนโรคจนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยรายนี้ยังแพร่เชื้อให้คนอื่นเพียง 1 คน คือหลานชาย แม้จะมีผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้จำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นซุปเปอร์ สเปรดเดอร์ จะต้องมีการติดตามผู้สัมผัสให้ครบ 14 วัน

พนง.ธนชาตไม่ใช่ผู้สัมผัสผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรมควบคุมโรคมีการติดตามหรือเฝ้าระวังในพนักงานธนาคารธนชาตที่ลูกชายของผู้ป่วยทำงานอยู่ด้วยหรือไม่ นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า มีการติดตามคุณพ่อของเด็กที่ป่วย ซึ่งทำงานอยู่ที่ธนาคารธนชาต เพราะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย แต่ไม่ได้ติดตามเฝ้าระวังในพนักงานธนาคารธนชาตคนอื่นที่ทำงานร่วมกับคุณพ่อ เพราะตามหลักการสอบสวนโรค จะติดตามผู้สัมผัสของผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ติดตามผู้สัมผัสของผู้สัมผัส เนื่องจากผู้สัมผัสไม่มีโอกาสแพร่เชื้อ ไม่ใช่ผู้ป่วย


ปกปิดข้อมูลมีความผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีคุณลุงผู้ป่วยรายล่าสุดเข้าข่ายการปกปิดประวัติ เมื่อประกาศให้โรคโควิด-19เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้วจะถือว่ามีความผิดหรือไม่ นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดไว้ว่าการแจ้งกรณีพบผู้ป่วยเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่ามีสมาชิกในบ้านป่วยด้วยโรคที่เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้วมีคนไปในประเทศเสี่ยง และมีการป่วยเกิดขึ้นแล้วร่วมกันปกปิด จะถือว่ามีความผิดฐานไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ