'กัลฟ์’ ยืนเด่นสวนดัชนีรูด นักลงทุนเก็งกำไร ‘3 ปัจจัยหนุน’ ดันราคาปิดบวก

'กัลฟ์’ ยืนเด่นสวนดัชนีรูด นักลงทุนเก็งกำไร ‘3 ปัจจัยหนุน’ ดันราคาปิดบวก

‘กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี’ ราคาพุ่งสวนภาวะตลาดดิ่ง บล.เคทีบี ชี้นักลงทุนแห่เก็งกำไร หลังประกาศแตกพาร์ จ่ายปันผล 1.30 บาท แถมเป็นหุ้นปลอดภัยช่วงดัชนีร่วงหนัก ด้านบล.เอเซีย พลัส กางสถิติหุ้นที่ประกาศแตกพาร์ช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบ ราคาพุ่งเฉลี่ย 14%

หุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่ “แข็งแกร่ง” ท่ามกลางดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงรุนแรงในวานนี้(24ก.พ.63) โดยราคาหุ้นปิดตลาดที่ 185.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท คิดเป็น 1.92% มูลค่าการซื้อขายรวม 4,213.70 ล้านบาท ระหว่างวันทำจุดสูงสุดที่ 193.50 บาท 

สาเหตุที่ GULF สามารถยืนบวกได้ตลอดวัน ส่วนหนึ่งจากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรข่าวการแตกพาร์จาก 5 บาท เหลือ1 บาท และจ่ายเงินปันผลอีกหุ้นละ 1.30 บาท  

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรหุ้น GULF จาก 3 ปัจจัย คือ คณะกรรมการ (บอร์ด) GULF อนุมัติการแตกพาร์ จาก 5 บาท เหลือ 1บาท ซึ่งเป็นผลบวกทางด้านจิตวิทยาทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร โดยสถิติที่ผ่านมาหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการแตกพาร์ ราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ประกาศไปจนถึงวันที่มีผลแตกพาร์ ประมาณ 5-10 %

การประกาศจ่ายเงินปันผลอีก 1.30 บาทต่อหุ้น และ ภาพรวมตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงนั้น ทำให้นักลงทุนต้องการหาหุ้นปลอดภัยลงทุน ซึ่งโรงไฟฟ้าถือว่าเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีความปลอดภัย จากมีรายได้ที่มั่นคงและปีนี้รายได้เพิ่มขึ้น จากการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่

‘สาเหตุหลักที่ราคาหุ้น GULF ปรับตัวขึ้นสวนภาวะตลาดคือ การประกาศแตกพาร์ ซึ่งเป็นผลบวกด้านจิตวิทยาแม้ไม่มีผลด้านพื้นฐาน แต่นักลงทุนจะรู้สึกว่าแตกพาร์แล้ว ราคาหุ้นถูกลงทำให้ซื้อขายได้สะดวกมากขึ้น’ นายมงคล กล่าว

ทั้งนี้บริษัทคาดกำไรปกติ GULF ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการรับรู้รายได้เต็มปีโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ในประเทศ 4 โครงการและโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ในเวียดนาม 2 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนรวม 448 เมกะวัตต์ซึ่งทยอยจ่ายไฟในปี 2562และการเริ่มทยอยจ่ายไฟ ของโรงไฟฟ้าในโอมาน ขนาดการผลิตตามสัดส่วนราว 147 เมกะวัตต์ในปีนี้

ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุ หุ้นที่ประกาศแตกพาร์ นั้นจะแตกพาร์เฉลี่ยประมาณ 2 เดือนหลังจากวันการประกาศ ขณะราคาหุ้นมักจะตอบรับในเชิงบวกเสมอ โดยจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า หุ้นใน ดัชนี SET100 ทั้งหมดที่มีการแตกพาร์ ตั้งแต่ปี 2551จนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นมักตอบสนองเชิงบวกตั้งแต่วันที่ประกาศจนถึงวันแตกพาร์เฉลี่ยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 14% และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 75%  แต่ยิ่งใกล้วันแตกพาร์ ผลตอบแทนที่ได้จะลดลง

สำหรับGULF ถือเป็นหุ้นขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันอยู่ทั้ง ในดัชนี SET50 และ SET100 และน่าจะปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับหุ้นบลูชิพที่มีการแตกพาร์ในอดีต เช่น บมจ. บ้านปู (BANPU), บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ. ปตท. (PTT), บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ให้ผลตอบแทนเป็นบวกตั้งแต่วันประกาศแตกพาร์จนถึงวันแตกพาร์ทุกบริษัทราว 29%, 17% ,15% 11%และ 3% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามการแตกพาร์นั้นถือเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ดีต่อราคาหุ้น GULF ในระยะสั้น แต่ราคาหุ้นของGULF ปัจจุบัน เกินกว่ามูลค่าเหมาะสมที่บริษัทให้ไว้ที่ 140บาท และตลาดที่ไม่ค่อยสดใส ทำให้ราคาหุ้น GULF อาจปรับตัวขึ้นได้ไม่ร้อนแรงเท่ากับสถิติในอดีต หากเก็งกำไรแนะนำเข้าลงทุนแล้วขายออกก่อนวันแตกพาร์