'ริชาร์ด แบรนสัน' เมินไวรัสโคโรน่า เปิดตัวเรือสำราญน้องใหม่

'ริชาร์ด แบรนสัน' เมินไวรัสโคโรน่า เปิดตัวเรือสำราญน้องใหม่

ริชาร์ด แบรนสัน แห่งอาณาจักร "เวอร์จิน" สวนกระแสหวาดกลัวเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ด้วยการเปิดตัวเรือสำราญหรู “สการ์เล็ต เลดี้” ล่องทะเลแคริบเบียน

เวอร์จิน กรุ๊ป ให้เหตุผลที่หันมาลงทุนธุรกิจเรือสำราญว่าเป็นเพราะเป็นความใฝ่ฝันส่วนตัวของแบรนสัน เจ้าพ่อนักธุรกิจเจ้าของอาณาจักรเวอร์จิน ที่ต้องการเป็นเจ้าของเรือสำราญตั้งแต่อายุ 27 ปี และอีกเหตุผลที่สำคัญคือ แบรนสันมองว่าเรือสำราญเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและเติบโตเร็วที่สุด

นอกจากเรือสำราญสการ์เล็ต เลดี้ ยังถูกวางให้เป็นเรือสำราญที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดขยะ บริเวณเรือจึงถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก หลอดดูด แก้วน้ำ แก้วกาแฟ ที่คนเครื่องดื่ม ถุงช้อปปิ้ง และบรรจุภัณฑ์อาหารต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม การคาดหวังของแบรนสันจะเป็นจริงได้แค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องลุ้น เพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นั้น บริษัทเดินเรือสำราญหลายแห่งสูญเสียรายได้ไปเยอะ

เริ่มจาก บริษัทรอยัล แคริบเบียน ครูซส์  ที่ยกเลิกบริการเรือสำราญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18 ทริป เสียหายคิดเป็นมูลค่า 136 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ยกเลิกการเดินทาง 8 ทริปในจีน และบริษัทยังเตือนว่า อุตสาหกรรมเรือสำราญจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แน่นอน

ส่วน ริชาร์ด เฟน ซีอีโอรอยัล แคริบเบียน ครูซส์ ให้ความเห็นว่า ทุกองค์กรควรแสดงความรับผิดชอบ และต้องยึดถือแนวทางด้านความปลอดภัยอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกข้อบังคับในการโดยสารเรือ หรือการเปลี่ยนกำหนดการเดินทาง

บริษัทคาร์นิวัล คอร์ป เจ้าของพรินเซส ครูซส์ และฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์ ยอมรับว่า บริษัทอาจได้รับผลกระทบการจากแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงแรก เนื่องจากมีการยกเลิกการให้บริการในจีนและเอเชียเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยอดจองตั๋วเรือสำราญทั่วโลกก็ลดลงตามไปด้วย แต่ในขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขที่แน่ชัดได้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบวันต่อวัน แต่ก็คาดการณ์ว่า หากคาร์นิวัล คอร์ป จะต้องยกเลิกการให้บริการในเอเชียทั้งหมดจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.นี้ มูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 445 ล้านดอลลาร์

สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องงัดกลยุทธ์มาดึงดูดลูกค้ากันอย่างหนัก โดยเอเจนซีบางแห่งเลือกที่จะโน้มน้าวให้ผู้โดยสารเปลี่ยนเส้นทางการท่องเที่ยว หรือปรับเปลี่ยนเวลาใหม่ แต่การตัดสินใจทำแบบนี้ ยิ่งสร้างความบอบช้ำให้กับภาคการท่องเที่ยวของเอเชียด้วย

แม้ภูมิภาคเอเชียจะมีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเรือสำราญแค่ 5% ของอุตสาหกรรมเรือสำราญโลกโดยรวม แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามองสำหรับบริษัทเรือสำราญที่ต้องการรุกขยายกิจการในระดับโลก เนื่องจากในจำนวนผู้โดยสาร 28.5 ล้านคน มีผู้โดยสาร 2.5 ล้านคนที่มาจากจีน เพราะฉะนั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จึงเป็นฝันร้ายของธุรกิจเรือสำราญ 

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ไม่ได้เล่นงานแค่ธุรกิจเรือสำราญอย่างเดียว ล่าสุด สำนักข่าวเกียวโดเปิดเผยว่า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรือสำราญระหว่างประเทศยกเลิกการแวะพักที่ท่าเรือของญี่ปุ่นมากกว่า 200 รายด้วยกัน ตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. ซึ่งการที่เรือสำราญต่างชาติจำนวนมากยกเลิกการเข้าเทียบท่าเรือในญี่ปุ่นตามแผนที่กำหนดไว้ในปีนี้ อาจทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียรายได้หลายพันล้านเยน เพราะการแวะเทียบท่าของเรือสำราญแต่ละครั้งจะสร้างรายได้จากการใช้จ่ายของผู้โดยสารโดยเฉลี่ยรวมทั้งสิ้นประมาณ 20-40 ล้านเยน (270,000-360,000 ดอลลาร์)

รัฐบาลท้องถิ่นที่บริหารท่าเรือชั้นนำ 10 แห่งของญี่ปุ่น ระบุว่า นับจนถึงวันศุกร์(21 ก.พ.) เรือสำราญต่างชาติยกเลิกการแวะเทียบท่าเรือในญี่ปุ่นแล้วอย่างน้อย 206 ราย และคาดว่าการยกเลิกดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงต่อไปของปีนี้ โดย เรือสำราญได้ยกเลิกการแวะเทียบท่าเรือที่โอซากามากที่สุดถึง 37 ราย