ใครได้-ใครเสีย 'ทอท.' เฉือนเนื้อ เยียวยาผู้ประกอบการสนามบิน

ใครได้-ใครเสีย 'ทอท.' เฉือนเนื้อ เยียวยาผู้ประกอบการสนามบิน

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ได้ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน นับตั้งแต่มีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ จนถึงการระบาดโรคโควิด-19

นายนิตินัย ศิริสมรรการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสารและรายได้ของสนามบิน ทอท.ทั้ง 6 แห่ง โดยนับตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2563 เดือน ต.ค.2562 ถึงสิ้นเดือน ม.ค.2563 รวม 4 เดือน ที่ถือเป็นตารางบินฤดูหนาวและเป็นฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) แต่พบว่าปริมาณผู้โดยสารของ ทอท.ช่วงดังกล่าวขยายตัวเฉลี่ยสะสม 3%

ขณะเดียวกันเมื่อรวมกับสถิติผู้โดยสารช่วง 12 วันแรกของเดือน ก.พ.2563 กลับทำให้อัตราการขยายตัวของผู้โดยสารเฉลี่ยสะสมทั้งหมดขยายตัวเป็น 0 และลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 16 ก.พ.2563 ปริมาณผู้โดยสารผ่าน 6 สนามบิน ติดลบ 2.5–2.6% โดยเฉพาะสนามบินดอนเมืองติดลบถึง 38–39% และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายอาจทำให้ปริมาณผู้โดยสารทั้ง 6 สนามบินติดลบมากกว่า 10%

“หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา หากเทียบกับตอนปิดสนามบินที่ไม่มีโอเปอร์เรตเพียง 7 วัน ผู้โดยสารในขณะนั้น 1.3 แสนคนต่อวัน หายไป 7% แต่ครั้งนี้เรื่องที่น่าห่วงมากที่สุด"

ผลกระทบโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวไทย  ซึ่งทำให้ ทอท.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2 ส่วน คือ 1.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน เช่น มาตรการมอบโบนัสเป็นเงินสนับสนุน 200 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน

2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ เช่น การลดค่าผลตอบแทนสำหรับสัญญาที่มีผลตอบแทนคงที่รายเดือนในอัตรา 20% เป็นระยะเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.2563–31 ม.ค.2564 สำหรับปีถัดไปจะทบทวนอัตราการปรับลดดังกล่าวอีกครั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นายนิตินัย กล่าวว่า มาตรการที่ ทอท.ประกาศออกมา เป็นการไตร่ตรองจากความเหมาะสมที่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับข้อเสนอของผู้ประกอบการ โดย ทอท.เห็นว่าการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้แบกรับต้นทุนที่น้อยลง จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสานต่อธุรกิจต่อไปในช่วงที่มีวิกฤติได้ แต่หาก ทอท.ไม่ช่วยเหลืออาจเกิดกรณีผู้ประกอบการขอยอเลิกสัญญา ต้องเลิกกิจการ และกระทบให้ ทอท.ต้องเปิดประมูลใหม่ ซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีคนสนใจเข้าร่วมในช่วงเวลานี้

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการช่วยผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ของ ทอท.กรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิปี 2553 มีการเลื่อนเก็บเงินค่าตอบแทนอัตราร้อยละที่กำหนด และอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำ โดยเลื่อนปีสัญญาที่ 2 เป็นปีสัญญาที่ 4 และปีสัญญาที่ 5 และเลื่อนปีสัญญาที่ 3 เป็นปีสัญญาที่ 6 รวมทั้งมีการยกเว้นค่าตอบแทนขั้นต่ำ 9 เดือน (เม.ย.–ธ.ค.2553)

แหล่งข่าว กล่าวว่า ผลกระทบต่อรายได้มีการรายงานต่อคณะกรรมการ ทอท.ว่า รายได้นอนแอร์โรว์ในปี 2563 จะลดลง 3,249 ล้านบาท ส่วนรายได้ในปี 2564 จะลดลงหรือไม่ขึ้นกับช่วงเวลาในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ของ ทอท.ได้ประเมินเทียบเคียงกับการระบาดโรคซาร์ที่ใช้เวลา 1 ปี ครึ่ง อุตสาหกรรมการบินจึงจะกลับมาเป็นปกติ โดยมาตรการที่ออกมาเพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในสนามบินให้ดำเนินธุรกิจต่อได้และไม่ให้มีปัญหาการเลิกจ้าง และถ้ามีการลดการจ่ายผลตอบแทนให้ ทอท.จะทำให้คิงเพาเวอร์ลดค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์กับผู้ค้ารายย่อยด้วย

นายอำนาจ โงสว่าง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBSTกล่าวว่ามาตรการช่วยผู้ประกอบการของทอท.ค่อนข้างเป็นลบ และอาจกระทบผลการดำเนินงาน ทอท.ค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะการลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนและการกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเป็นรายเดือนหรือรายปีให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี โดยกำหนดเวลาตั้งแต่ 1 ก.พ.2563–31 มี.ค.2565เพราะจะกระทบรายได้จากสัญญาดิวตี้ฟรีและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เป็นรายได้ส่วนใหญ่ของทอท.ที่มีสัดส่วน22% ของรายได้รวม

ทั้งนี้ประเมินมาตรการดังกล่าวจะผลกระทบต่อกำไรสุทธิของทอท.ในปี 2563 จะลดลงจากเดิมราว 2,000ล้านบาท เหลือระดับ 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ 22,000 ล้านบาท และกระทบต่อราคาเป้าหมายปีนี้2 บาทต่อหุ้น 

ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มากกว่าคาด เชื่อว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารปีนี้ลดลงเป็น -12% จากเดิมที่คาดจะลดลง -5% และส่งผลให้มีปรับลดกำไรปีนี้ลงอีก 2,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบต่อราคาเป้าหมายลดลงอีก 5 บาท จึงมีการปรับลดราคาเป้าหมายปี 2563 เป็นระดับ 76.00 บาทต่อหุ้น จากเดิมที่ระดับ 83.00 บาทต่อหุ้น

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของทอท.นานเกินไป จึงส่งผลให้ตลาดตอบรับในเชิงลบอย่างรุนแรงอีกทั้งสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังดูน่าห่วงและคาดว่าจะกดดันบรรยากาศการท่องเที่ยวรุนแรงนานกว่าที่คาด จึงทำให้เราปรับราคาเป้าหมายปีนี้จากเดิม 81 บาท เป็น 74 บาท พร้อมแนะนำหลีกเลี่ยงในระยะสั้น

ขณะที่ราคาหุ้น ทอท.หรือ AOT วานนี้ (20ก.พ.)ลดลงแรงหลังโบรกเกอร์หลายแห่งออกมาปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของทอท.ปีนี้ลง โดยปิดตลาดวานนี้ที่ 64.50 บาท ลดลง 3.25 บาท คิดเป็นการลดลง 4.8% มูลค่าการซื้อขายรวม 11,789 ล้านบาท