'ปิยบุตร' ยืนยัน อนค. ไม่ผิด ลั่น เงินกู้ผิดกฎหมายตรงไหน

"ปิยบุตร" แถลงข่าวปิดคดีนอกศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิฉัยคดีในวันที่ 21 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 63 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวปิดคดีนอกศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิฉัยคดีในวันที่ 21 ก.พ.นี้ โดยกล่าวว่า ในส่วนของคดีเงินกู้ ข้อเท็จจริงคือตามกฏหมายว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน เรียกร้องให้พรรคการเมืองต้องทำอยู่หลายเรื่องซึ่งหากทำไม่ครบ ก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งได้ ทั้งการกำหนดกรอบระยะเวลา การรับสมัครสมาชิกพรรคที่หากจะลงสมัครในพื้นที่นั้นต้องมีสมาชิกพรรคเกินกว่า 100 คน และการขยายสาขา ที่ต้องทำให้ทันในเวลาที่กำหนด โดยในขณะนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็ยังไม่ปลดล็อกการเลือกตั้ง ทางพรรคฯ จึงระดมทุนด้วยการเปิดขายสินค้าที่พรรค แต่ทาง กกต. ก็ติดต่อมาว่าพรรคจะรับเงินบริจาคจากกรรมการบริหารพรรคได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น และไม่สามารถรับเงินบริจาคจากบุคคลธรรมหรือจัดกิจกรรมระดมทุน เช่น โต๊ะจีนได้

อ่านข่าว
'ศรีสุวรรณ' ร้อง กกต. สอบ '32 พรรค' กู้เงิน อ้างกรณีอนาคตใหม่

ทั้งนี้ นายปิยบุตร ยังให้เหตุผลว่า สถานการณ์การเมืองก่อนการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไร และด้วยพรรคเป็นพรรคใหม่ที่ไม่มีทรัพยากรเช่นเดียวกับพรรคเก่าแก่ โดยทางพรรคมีเวลาเพียงแค่เดือนเศษ จากข้อจำกัดเรื่องเวลา เป็นเหตุให้พรรคตัดสินใจทำการกู้เงิน ต่างจากพรรคพลังประชารัฐที่มีการจัดโต๊ะจีนระดมทุนได้เงินไปถึง 622 ล้านบาท รวมถึงพรรคที่เพิ่งก่อตั้งอย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่จัดโต้ะจีนเช่นเดียวกันและได้เงินไป 240 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายปิยบุตร ยืนยันว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มีเจตนาปกปิดเรื่องการกู้เงินแต่อย่างใด ทั้งยังมีการประกาศชัดเจนในงบการเงิน รวมถึงการที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าให้พรรคทำการกู้เงินจริง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การกู้เงินตามหลักกฎหมายมหาชนว่า พรรคการเมืองจะเรียกร้องจากองค์กรและเจ้าหน้าที่รัฐว่า ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ บรรดาหน่วยงานของรัฐจะใช้อำนาจได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจเสียก่อน แต่หลักกฎหมายเอกชน ระบุว่า นิติบุคคลเอกชน และปัจเจกบุคคล มีเสรีภาพในการกระทำใดๆ ก็ได้ตราบที่กฎหมายไม่ได้ห้าม ซึ่งตามข้อเท็จจริงพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชน ที่เกิดจากการรวมตัวของปัจเจก การตีความทางกฎหมายจึงต้องอาศัยหลักกฎหมายมหาชน นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองสามารถทำการกู้เงินได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้

นอกจากนี้ นายปิยบุตร ยังได้เปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคชาติพัฒนา และพลังท้องถิ่นไทย เป็นต้น พร้อมกับเน้นย้ำว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่คือหนี้สิน ถัดมาคือกระบวนการในขั้น กกต. ที่ นายปิยบุตร ตั้งข้อสังเกตว่า การฟ้องร้องในความผิดมาตรา 66 ว่าพรรค รับเงินที่ได้มาไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยในเบื้องต้นมีการยกคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ แต่ต่อมาปรากฏว่า กกต. ยังเดินหน้าต่อด้วยการฟ้องอีกคณะ แต่ก็มีการยกคำร้องในเวลาต่อมาเช่นกัน ถัดนั้น กกต. ได้ฟ้องต่ออนุฯ มีมติเอกฉันท์ 3 ต่อ 2 เสียงว่ามีความผิดตามมาตรา 66 ทั้งที่กฎหมาย กกต. มาตรา 41 ระบุอย่างชัดเจนว่า ถ้ากรรมการไต่สวนยกคำร้องเรื่องต้องยุติทันที

ส่วนกรณีที่พรรคโดนข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 62, 66 และ 72 ซึ่งมีมติเอกฉันท์ว่าผิดและฟ้องร้องให้ยุบพรรคฯ ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการตั้งแต่การฟ้องร้องที่ผ่านไปเพียงสองสัปดาห์ มาตรา 72 โผล่ขึ้นมาได้อย่างไร และตนขอยืนยันว่าตามกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการยุบพรรคการเมือง

นายปิยบุตร ยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 210 เพราะอำนาจในการยุบพรรคขัดกับกฎหมายที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ท้ายนี้ นายปิยบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง หรือต้องการกำจัดพรรคการเมือง ผู้ร่างกฎหมายบอกว่า ต้องทำให้พรรคเป็นของมวลชน ทำให้โปร่งใส พรรคฯ ยึดแนวทางนี้ แสดงที่มาที่ไป มีสัญญาชัดเจนเพราะหวังยกระดับขึ้น แต่ปรากฎว่ากำลังมีการเอากฎหมายพรรคการเมืองมาไล่ล่ากำจัดพรรคการเมืองใช่หรือไม่ พออธิบายได้ก็หาข้อกฎหมายใหม่มาใช้เรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับหมาป่ากับลูกแกะ ถ้าใช้กฎหมายพรรคการเมืองแบบนี้ต่อไป ต่อไปแค่ใช้ชื่อพรรคอนาคตใหม่ก็คงผิด

สุดท้ายแล้วถ้าพรรคฯ ผิด ประเทศนี้คงกำลังบอกว่า พรรคการเมืองจงอย่าบอกว่าเอาเงินมาจากไหน ตกลงแล้ว กกต. ต้องการอะไรกันแน่ เพราะยิ่งเปิดเผยโปร่งใสยิ่งถูกจับผิดมากเท่านั้น นี่คือสังคมศรีธนญชัย ใช่หรือไม่?