งบประมาณปี 63 'มาช้า' ดีกว่า 'ไม่มา'

งบประมาณปี 63 'มาช้า' ดีกว่า 'ไม่มา'

แม้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ฉบับนี้จะมาช้าเกินไป แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา ถ้าไม่มีอะไรติดขัดกลางทาง ทันทีที่การเบิกจ่ายเริ่มดำเนินไป อาจช่วยให้เศรษฐกิจไทยพอหายใจได้บ้าง จากที่ติดหล่มจากปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน

ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือ ‘ไม่โมฆะ’ โดยกระบวนการจากนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนัดประชุมสภาฯ เป็นนัดพิเศษในวันที่ 13 ก.พ. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในวาระสองและวาระสาม เพื่อให้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ผ่านสภาฯ ได้เร็วที่สุด 

ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องราวดีๆ ที่พอจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะถดถอย เห็นแสงสว่างได้นิดหน่อย ท่ามกลางปัจจัยลบอีกมากมายรอบด้าน ที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปทีละเรื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ปัจจัยนี้ควบคุมยาก และยากที่จะควบคุม ส่งผลกระทบอย่างสาหัสต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

การมาของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความหวัง แม้จะไม่ทันอกทันใจนัก ซึ่งถ้าไม่มีอะไรติดขัดกลางทาง ทันทีเกิดการเบิกจ่ายเริ่มดำเนินไป อาจช่วยให้เศรษฐกิจพอหายใจได้บ้าง ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้นมาก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า และความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ผสมกับปัญหาภัยแล้ง ที่กระทบกับธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก การท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคด้วย รวมไปถึงการบริโภคภาคเอกชน ยังได้รับผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ทั้งจากครัวเรือนภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 

เราเห็นว่าการประชุมสภาฯ ที่จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวาระที่ 2 และ 3 นี้ ควรเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายในสภาฯ ต้องร่วมแรงร่วมใจ ร่วมอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ คิดถึงประโยชน์ประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ที่ต้องอาศัย “งบประมาณ” กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ และพร้อมเผชิญความท้าทายที่อาจเพิ่มขึ้นมาอีกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือผนึกกำลังรัฐและเอกชน ร่วมพลิกฟื้นและรับมือการแข่งขัน รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ฉบับนี้มาช้าเกินไป... แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา