1 ปี ชี้ชะตา 'ซีพี' เข็นรถไฟความเร็วสูง

1 ปี ชี้ชะตา 'ซีพี' เข็นรถไฟความเร็วสูง

เงื่อนไขสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ที่การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ต้องส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือน นับจากลงนาม หรือภายในเดือน ธ.ค.นี้

บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 และกำลังเตรียมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ขั้นตอนที่ ร.ฟ.ท.หารือในรายละเอียดของแผนก่อสร้างโครงการร่วมกับกลุ่มซีพี โดยเอกชนจะเสนอแผนก่อสร้างดังกล่าว พร้อมทั้งระบุถึงต้องการที่จะเข้าพื้นที่พัฒนาตามลำดับ ขณะที่ ร.ฟ.ท.ก็จะชี้แจงให้ทราบถึงความพร้อมของพื้นที่ที่ส่งมอบได้

“ตอนนี้เรากำลังหารือในรายละเอียดกันว่าพื้นที่ไหนที่ส่งมอบได้ และพื้นที่ไหนที่ทางเอกชนเขาอยากจะเข้าไปก่อสร้างก่อน เมื่อนำมาเทียบกันแล้ว หากดำเนินการได้เลยจะทยอยเข้าพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน ร.ฟ.ท.เตรียมพื้นที่ในส่วนของผู้บุกรุกคืบหน้าไปมากแล้ว โดยรวบรวมรายชื่อที่จะต้องเวนคืนแล้วเสร็จ 90%”

สำหรับการดำเนินงานโครงการในส่วนของ ร.ฟ.ท.ปีนี้ รับหน้าที่เคลียร์พื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชนก่อสร้าง ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อรวมรายชื่อของที่ดินที่ต้องเวนคืนจากผู้บุกรุกแล้วเสร็จ หากเอกชนต้องการเข้าพื้นที่ ร.ฟ.ท.จะเร่งจ่ายเงินชดเชยผู้บุกรุก จึงคาดว่าภายในปีงบประมาณ 2563 นี้ จะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้บุกรุกเสร็จ พร้อมเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชนนำไปพัฒนา

สำหรับแผนส่งมอบที่ดิน ร.ฟ.ท.จะทยอยส่งมอบพื้นที่ออกเป็นส่วน คือ 1.พื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 1 ปีกว่า 2.ช่วงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความพร้อมส่งมอบเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขเอกชนจะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์บริหาร 1 หมื่นล้านบาทให้เสร็จภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา

3.พื้นที่ที่ยังไม่พร้อมส่งมอบ เพราะมีระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญที่ต้องใช้เวลาเคลื่อนย้าย เช่น ท่อน้ำมัน อีกทั้งมีปัญหาผู้บุกรุก คือช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะใช้เวลาทยอยส่งมอบเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา

158100347597

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนใน 1 เขตท้องที่กรุงเทพฯ และอีก 7 อำเภอใน 4 จังหวัดแล้ว รวม 11 แปลง 858 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2562 ซึ่ง ร.ฟ.ท.เตรียมลงพื้นที่สำรวจเส้นทางเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้ว

“ตอนนี้กำลังเตรียมลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เวนคืนแล้ว แต่จะต้องรอเทียบกับแผนก่อสร้างของเอกชนที่จะกำหนดชัดเจนขึ้นว่าจะใช้พื้นที่ใดบ้าง ใช้ส่วนใดก่อน" 

ร.ฟ.ท.จะไม่ได้เวนคืนทั้งแปลง โดยหากพิจารณาจากแนวเส้นทางก่อสร้างที่กลุ่มซีพีส่งให้ก่อนหน้านี้ ก็ประเมินว่าจะมีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินกว่า 1,000 ราย ใช้วงเงินชดเชย 3,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ต้องส่งมอบเพื่อพัฒนาอยู่ที่ 4,429 ไร่ แบ่งออกเป็น พื้นที่ที่ต้องเวนคืน 858 ไร่ พื้นที่ติดสัญญาเช่า 83 สัญญา 258 ไร่ พื้นที่โล่ง 3,103 ไร่ และพื้นที่ผู้บุกรุก 210 ไร่ โดยเบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาได้เป็นส่วนแรกก่อน ภายใน 1–2 ปีนี้ ส่วนพื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะส่งมอบได้ภายใน 2-4 ปี

สำหรับการหารือแผนก่อสร้างร่วมกับกลุ่มซีพีที่ผ่านมา ไม่มีการหารือถึงกรณีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ต้องเชื่อมกับโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบิน โดยที่ผ่านมาลุ่มซีพี ประเมินตัวเลขปริมาณผู้โดยสารผ่านการวิเคราะห์การสร้างเมืองใหม่ตามแนวสถานีรถไฟ ประกอบกับประเมินการเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง 3 สนามบิน โดยไม่ได้ประเมินผลลัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบิน

“สัญญาการร่วมทุนตอนนี้ ยังมีความเชื่อมั่นระหว่างกันว่าทางเอกชนจะไม่ทิ้งงานแน่นอน เพราะเป็นโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่ และ ร.ฟ.ท.เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุน ไม่ได้เป็นผู้จ้างงานเหมือนโครงการอื่น ซึ่งตอนนี้ยังมั่นใจว่ากลุ่มซีพีตั้งใจที่จะทำโครงการนี้ เพราะมีแผนชัดเจนว่าจะพัฒนาอย่างไร และมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย”

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของการร่วมทุนที่ระบุในสัญญาถึงกรณีที่จะยกเลิกสัญญาได้ ก็ต่อเมื่อ ร.ฟ.ท.หรือเอกชน ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในร่างสัญญา โดยเฉพาะหน้าที่ที่ตนได้รับผิดชอบได้ เช่น กรณี ร.ฟ.ท.ไม่สามารถส่งมอบที่ดินได้ตามแผนเอกชนขอยกเลิกสัญญา

ในขณะที่สัญญากำหนดให้กรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ได้หรือไม่ครบจะมีการขยายเวลาก่อสร้าง แต่ไม่มีการจ่ายชดเชย ส่วนกรณี ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้เลยใน 1 ปี 3 เดือนเอกชนขอเลิกสัญญาได้

ดังนั้นกรณีที่จะมีการยกเลิกสัญญา คือ หลังลงนามสัญญาแล้ว ร.ฟ.ท.ทำงานไม่ได้เลย หรือ เมื่อครบกำหนด 1 ปี 3 เดือน หลังลงนาม แล้ว ร.ฟ.ท.ไม่สามารถดำเนินการใดได้ ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดและอาจเป็นเหตุให้ยกเลิกสัญญาได้ แต่เหตุการณ์นั้นปัจจุบันยังไม่เข้าข่าย เนื่องจาก ร.ฟ.ท.เริ่มดำเนินงานส่วนที่รับผิดชอบทั้งเตรียมเข้าพื้นที่เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน

ส่วนกรณีของภาคเอกชนเห็นได้ว่าขณะนี้ กลุ่มซีพีเริ่มดำเนินการในส่วนที่รับมอบหมาย คือ การออกแบบงานก่อสร้าง การวางแผนงานให้เป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นว่าเอกชนเริ่มทำงานตามที่วางแผนไว้หลังลงนามสัญญาไปแล้ว ดังนั้น ร.ฟ.ท.เชื่อว่าเอกชนตั้งใจดำเนินโครงการนี้ แต่หลังจากนี้ หากเอกชนไม่ดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย จนนำไปสู่การยกเลิกสัญญาก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในฐานะผู้กำกับโครงการ

สำหรับการเลิกสัญญาเพราะความผิดของเอกชน ในสัญญากำหนดให้รัฐชำระค่าชดเชยทรัพย์สินที่รับโอน (ไม่เกินวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน) ส่วนการเลิกสัญญาที่เป็นเหตุจาก ร.ฟ.ท.กำหนดให้ ร.ฟ.ท.ชำระค่าทรัพย์สินที่รับโอน และชดเชยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินที่ไม่ได้รวมในมูลค่าทางบัญชี

ในขณะที่การระงับข้อพิพาทกำหนดให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล