“สมคิด”สั่งออมสินอุ้มหนี้ข้าราชการ

“สมคิด”สั่งออมสินอุ้มหนี้ข้าราชการ

“สมคิด”มอบนโยบายธนาคารออมสินช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มข้าราชการและหนี้บัตรเครดิต ชี้เป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้หนัก พร้อมเดินหน้าธนาคารเพื่อการพัฒนาเต็มรูปแบบ ด้าน”ชาติชาย”เตรียมสรุปแนวทางช่วยเหลือใน 1 เดือน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานธนาคารออมสินวานนี้(5ก.พ.)ว่า ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการ ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพราะหนี้สินข้าราชการนั้น ถูกสั่งสมมานาน และมีจำนวนมาก แทบจะไม่มีทางชำระคืนได้หมด จึงมอบหมายให้เร่งหาแนวทาง โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและเสนอระดับเพื่อพิจารณา

“ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินไปดูพฤติกรรมของลูกหนี้กลุ่มข้าราชการว่าจะเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างไร และให้แบงก์ชาติมีส่วนร่วมในการพิจารณา เพื่อลูกหนี้กลุ่มนี้เขาสามารถยืนทำมาหากินได้ แต่ทุกอย่างต้องทำภายใต้เกณฑ์ที่เหมาะสม”เขากล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังขอให้ช่วยดูลูกหนี้กลุ่มที่มีภาระหนี้สินที่เกิดจากเครดิตการ์ดที่เต็มเพดาน ก็ขอให้ดูว่า จะช่วยลดดอกเบี้ยลงได้หรือไม่

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของธนาคารนั้น ตนมอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไม่ใช่ธนาคารเพื่อการพาณิชย์ที่เน้นลูกค้ารายใหญ่ แต่ต้องเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา ซึ่งไม่ได้หมายถึงธนาคารที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่ต้องเป็นธนาคารที่เข้าไปพัฒนาชุมชนทุกพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง และ เสริมสินเชื่อเข้าไป

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีลูกหนี้กลุ่มข้าราชการจำนวน 1.18 ล้านราย เป็นมูลหนี้ 6.29 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับสถาบันการเงินและกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ คาดว่า มูลหนี้กลุ่มข้าราชการจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น ภาระการผ่อนชำระต่องวดจึงอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ลูกหนี้กลุ่มข้าราชการดังกล่าว แบ่งเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 51% หรือ 6 แสนราย มูลหนี้ 1.85 แสนล้านบาท , บุคลากรทางการศึกษา 41% จำนวน 4.89 แสนราย มูลหนี้ 3.95 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ตำรวจและทหาร อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการชำระหนี้กลุ่มข้าราชการนั้น ถือว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีหนี้เสียอยู่ในระดับ 2.65%

สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มข้าราชการนั้น โดยปกติจะใช้วิธีการยืดหนี้หรือลดดอกเบี้ย ส่วนจะแฮร์คัตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ อย่างไรก็ดี กลุ่มที่ธนาคารจะช่วยเหลือนั้น จะต้องเป็นกลุ่มที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสียจะต้องปรับปรุงการชำระหนี้จนกลายมาเป็นหนี้ดี จึงจะได้รับการช่วยเหลือ โดยกลุ่มที่มีวินัยทางการเงินมีสัดส่วนถึง 90% คาดว่า จะใช้เวลาพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตนั้น ธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลือในกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสียให้สามารถผ่อนชำระในอัตราต่ำที่ 2.5% ของยอดหนี้บัตร ระยะเวลา 4 ปี อัตราดอกเบี้ยประมาณ 8.5% สำหรับกลุ่มมีเงินเดือนและข้าราชการ และ 10.5% สำหรับบุคคลทั่วไป คาดว่า ภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ธนาคารจะประกาศหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการ