'มูดี้ส์' เตือนไวรัสโคโรน่าฉุดเศรษฐกิจจีนหนักกว่าซาร์ส

'มูดี้ส์' เตือนไวรัสโคโรน่าฉุดเศรษฐกิจจีนหนักกว่าซาร์ส

หลังสายการบินชั้นนำทั่วโลกพากันระงับให้บริการบินเข้า-ออกจีน เพราะไม่ไว้วางใจการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ มูดี้ส์ออกมาเตือนว่าไวรัสชนิดนี้อาจจะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจจีนหนักหน่วงกว่าเมื่อครั้งซาร์สระบาดปี 2546

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะไม่ขยายตัวได้มากเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ และคาดว่ารัฐบาลจีนอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นมากขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยมูดี้ส์ ระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนมีการพึ่งพาการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) เมื่อปี 2546

“การที่เศรษฐกิจจีนหันมาพึ่งพาอุปสงค์ของผู้บริโภคเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตนั้น ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นว่า ผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ จะรุนแรงมากกว่าเมื่อครั้งโรคซาร์สระบาดในปี 2546” ทีมวิเคราะห์ด้านความเสี่ยงประเทศของมูดี้ส์ ระบุในรายงาน

รายงานชิ้นนี้ของมูดี้ส์ ระบุด้วยว่า การที่ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการเดินทางท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยนั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ การที่มณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการผลิต และเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่เชื่อมต่อพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจีนเข้ากับพื้นที่ตอนกลางและฝั่งตะวันออกตลอดแนวเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซีนั้น ยังได้ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคชะลอตัวลง และทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนากระจายตัวอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ มูดี้ส์ คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะขยายตัว 5.8% ปีนี้

คำเตือนของมูดี้ส์ มีขึ้นหลังจากสายการบินต่างๆทั่วโลกพากันระงับเที่ยวบินเข้า-ออกจากประเทศจีน เพระวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน โดยข้อมูลล่าสุดของสายการบินในภูมิภาคต่างๆที่ระงับเที่ยวบินเข้า-ออกจีน นับจนถึงวันที่ 4 ก.พ. ประกอบด้วย สายการบินในทวีปอเมริกาเหนือ มีเดลตา แอร์ไลน์ ของสหรัฐ ระงับเที่ยวบินทั้งหมดไปจีนตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.- 30 เม.ย. อเมริกัน แอร์ไลน์ ระงับเที่ยวบินทั้งหมดไปจีน ตั้งแต่ 31 ม.ค.- 27 มี.ค. แต่ยังคงให้บริการเที่ยวบินไปฮ่องกง ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ของสหรัฐ ระงับเที่ยวบินตรงไปปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้และเฉิงตู ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-28 มี.ค. แต่ยังคงให้บริการ 1 เที่ยวต่อวันระหว่างซานฟรานซิสโกและฮ่องกง แอร์ แคนาดาของแคนาดา ระงับเที่ยวบินไปปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-29 ก.พ.

158086134094

สายการบินในทวีปเอเชีย มีการบินไทย ลดเที่ยวบินไป-กลับปักกิ่งและกวางโจว ตั้งแต่ 8-29 ก.พ., ลดเที่ยวบินไป-กลับเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ 10-29 ก.พ., ลดเที่ยวบินไป-กลับเฉิงตูและเซียะเหมิน ตั้งแต่ 6-27 ก.พ. และลดเที่ยวบินไป-กลับคุนหมิง ตั้งแต่ 6-29 ก.พ. คาเธ่ย์ ดรากอนของฮ่องกง ระงับเที่ยวบินไปอู่ฮั่นตั้งแต่ 24 ม.ค.-31 มี.ค. และลดเที่ยวบินเข้าและออกจากจีนลง 50% หรือมากกว่า ตั้งแต่ 30 ม.ค. โคเรียน แอร์ของเกาหลีใต้ ระงับเที่ยวบินระหว่างอินชอน-อู่ฮั่นตั้งแต่ 24 ม.ค.-27 มี.ค., ระงับเที่ยวบินระหว่างอินชอน-หวงซาน,จางเจียเจีย, ฉางชา หรือ คุนหมิง (ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.) และระหว่างปูซาน-ปักกิ่ง/หนานจิง

คาเธ่ย์ แปซิฟิกของฮ่องกง ลดเที่ยวบินเข้า-ออกจีนลง 50% หรือมากกว่า ตั้งแต่ 30 ม.ค.-31 มี.ค. ไชน่า แอร์ไลน์ของจีน ระงับเที่ยวบินเข้าและออกจากไต้หวันตั้งแต่ 23 ม.ค.-29 ก.พ. แมนดาริน แอร์ไลน์ของไต้หวัน ระงับเที่ยวบินเข้าและออกจากไต้หวัน ตั้งแต่ 23 ม.ค.-29 ก.พ. ไทย ไลอ้อน แอร์ของไทย ระงับเที่ยวบินทุกเที่ยวไปยังจีน ตั้งแต่ 24 ม.ค.-29 ก.พ. ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ของฟิลิปปินส์ ระงับเที่ยวบินไปปักกิ่ง, กวางโจว, เซี่ยงไฮ้, เซียะเหมิน, เฉวียนโจว, ฮ่องกงและมาเก๊า ตั้งแต่ 2 ก.พ.-29 ก.พ.

สิงคโปร์ แอร์ไลน์ของสิงคโปร์ ระงับเที่ยวบินไปยังปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้และกวางโจว ตั้งแต่ 3 ก.พ.-1 มี.ค.ซิลค์แอร์ของสิงคโปร์ ระงับเที่ยวบินไปยังเซินเจิ้น, เซียะเหมิน และฉงชิ่ง ตั้งแต่ 4 ก.พ.-1 มี.ค.อินดิโกของอินเดีย ระงับเที่ยวบินระหว่างเบงกาลูรูและฮ่องกง และระหว่างเดลีและเฉิงตู แต่ยังคงให้บริการเที่ยวบินระหว่างโกลกาตาและกวางโจว ตั้งแต่ 1 ก.พ.-20 ก.พ. แอร์อินเดียของอินเดีย ระงับเที่ยวบินระหว่างเดลีและเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ 31 ม.ค.-14 ก.พ. เวียตเจ็ทแอร์ของเวียดนาม ระงับเที่ยวบินไปจีนทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. แต่ยังคงให้บริการเที่ยวบินไปฮ่องกงและไต้หวัน กาตาร์ แอร์เวย์ของกาตาร์ ระงับทุกเที่ยวบินไปจีน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.

แต่มุมมองของมูดี้ส์ สวนทางกับนางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ที่โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ และเว่ยป๋อ สนับสนุนความพยายามของจีนในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว ซึ่งรวมถึงมาตรการด้านการเงินและการคลัง พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีความหยืดหยุ่นรับมือไวรัสระบาดได้

สอดคล้องกับธนาคารโลกที่แสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งยังกล่าวว่า ธนาคารโลกสนับสนุนความพยายามของจีนในการรับมือกับโรคระบาด รวมถึงความพยายามในการรักษาความหยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ