ชป.ร่วมประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ชป.ร่วมประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

กรมชลประทาน ร่วมประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 30 ม.ค.63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม คณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานฯ เพื่อรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563 และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพิ่มเติม ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงมาตรการควบคุมความเค็มว่า เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้อยประกอบกับน้ำทะเลหนุน ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดค่าความเค็มรุกตัว ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำดิบที่จะใช้ในการผลิตน้ำประปา กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ พร้อมวางมาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันลิ่มความเค็ม ด้วยการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักเพิ่มเติม รวมกันประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. และควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 80 ลบ.ม.ต่อวินาที และเขื่อนพระรามหกอีกประมาณ 6 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อผลักดันค่าความเค็ม รวมทั้งทำการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านแม่น้ำท่าจีนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านทางคลองพระยาบรรลือประมาณ 27 ลบ.ม.ต่อวินาที และคลองพระพิมลประมาณ 19 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำในคลองพระยาบรรลือและคลองพระพิมลรวม 102 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปไล่ความเค็มไม่ให้รุกเข้าไปทางตอนบน

นอกจากนี้ ยังได้ทำการควบคุมการปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล รวมทั้งระบายน้ำผ่านกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำที่ท้ายคลองประปามหาสวัสดิ์ บริเวณคลองปลายบางประมาณ 12 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับประสานไปยังสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ให้หยุดการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงน้ำขึ้นเพื่อป้องกันน้ำคุณภาพต่ำไหลย้อนขึ้นไปในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน และยังได้บูรณาการร่วมกับการประปานครหลวง ปฏิบัติการ Water Hammer Operation ด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำจืด เพื่อผลักดันและเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล โดยกำหนดให้การประปานครหลวง หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดมากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวจากสถานีสูบน้ำสำแลให้ไกลที่สุด โดยได้ปฏิบัติการไปแล้ว 3 ครั้ง ปัจจุบัน(30 ม.ค.63) สถานการณ์ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้(ไม่เกินค่ามาตรฐานผลิตน้ำประปา 0.5 กรัม/ลิตร) แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สำหรับมาตรการการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขค่าความเค็มในลุ่มน้ำปราจีน-บางปะกง นั้น กรมชลประทาน ได้กำหนดจุดตรวจสอบและควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิน 1 กรัมต่อลิตร จำนวน 5 จุด ได้แก่ 1.บริเวณโครงการฉะเชิงเทรา อ.บ้านโพธิ์ 2.ประตูระบายน้ำบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา 3.ประตูระบายน้ำบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี 4.จุดสูบน้ำการประปาส่วนภูมิภาคปราจีนบุรี อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี และ5.ประตูระบายน้ำหาดยาง. อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ส่วนมาตรการช่วยเหลือการประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี สาขาบางปะกง สาขาบางคล้า และสาขาฉะเชิงเทรา นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้งนี้