ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 27-31 ม.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 20-24 ม.ค. 63

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 27-31 ม.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 20-24 ม.ค. 63

ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากความกังวลด้านอุปสงค์ หลังไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดในจีน

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58-63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 - 31.. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังตลาดกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัว ประกอบกับตลาดคลายความกังวลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียเนื่องจากกำลังการผลิตส่วนที่หายไปในลิเบียอาจได้รับการชดเชยจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคที่มีกำลังการผลิตสำรองในระดับสูง ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งชั้นหินดินดาน (shale oil) ในสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 63 คาดว่าจะขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 62 อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากโรงกลั่นกำลังจะเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน เนื่องจากตลาดกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย์ ทางตอนกลางของประเทศจีนซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายรายและเริ่มมีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ โดยทางการจีนได้ประกาศสั่งระงับเที่ยวบินขาออกจากเมืองอู่ฮั่น และระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2563 ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงปลายเดือนนี้
  • ตลาดคลายความกังวลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียที่ล่าสุดตลาดคาดว่ากำลังการผลิตส่วนที่หายไปจะได้รับการชดเชยจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคที่มีกำลังการผลิตสำรอง (spare capacity) มากกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากก่อนหน้านี้กองกำลังแห่งชาติลิเบียได้สั่งปิดท่าเรือ 5 แห่งภายในประเทศ ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลลิเบียประกาศภาวะสุดวิสัย (force majeure) การส่งออกน้ำมันที่ท่าเรือดังกล่าวและทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 72,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งชั้นหินดินดาน (shale oil) ในสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 63 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 22,000 บาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 62 อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าปริมาณการส่งออกจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ บางแห่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ปรับลดลงในช่วงฤดูหนาว โดยสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นเพียง 1 ล้านบาร์เรล
  • ตลาดจับตาการถอนตัวอย่างเป็นทางการของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ในวันที่ 31 ม.ค. 2563 หลังวันที่ 23 ม.ค. 2563 ร่างกฎหมายเบร็กซิทผ่านการเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายของรัฐสภาอังกฤษแล้ว ถือเป็นการคลี่คลายกระบวนการเบร็กซิทที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ที่ชาวอังกฤษลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรปเมื่อเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยตลาดคาดการณ์ว่าผลจากเบร็ทซิทจะทำให้อังกฤษเผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลง
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินสหรัฐฯ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 4/2562 ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 - 24.. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 54.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 60.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 29 ปีของจีน อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (จีดีพี) ในปี 2563 ลงไปสู่ระดับร้อยละ 3.3 ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือน ต.ค. 62 ที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจอินเดียและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการประกาศหยุดการผลิตน้ำมันดิบด้วยภาวะสุดวิสัย (Force Majeure) ในแหล่งน้ำมันดิบ Sharara และ El Feel ในลิเบีย