‘เมียนมา’ เปิดกว้างรับทุนนอก

‘เมียนมา’ เปิดกว้างรับทุนนอก

เมียนมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การเปิดกว้างรับนักลงทุนต่างชาติ และเชื่อมโยงการค้ากับต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ

กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา บรรยายพิเศษหัวข้อ “เมียนมา2020 : มิติของการเปลี่ยนแปลง”ว่า เมียนมาปรับโฉมประเทศไปแบบพลิกฝ่ามือ มีการพัฒนานครย่างกุ้ง ปรับปรุงกฎหมายการลงทุน ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถด้านแรงงาน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสร้างโอกาสทางการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ปัจจุบัน เมียนมาให้ความสำคัญกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ มุ่งส่งเสริมการสร้างงานและเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมี 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเขตเศรษฐกิจพิเศษจ๊อกพิว นอกจากนี้ ยังมีนิยมอุตสาหกรรมอีก 20 แห่งที่เปิดใหม่

กริช ฉายภาพให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา โดยแบ่งเป็น 5 ด้านหลักๆ คือ 1.การพัฒนาประเทศ ที่เน้นพัฒนาพื้นที่ภายในเมือง และพื้นที่ในโครงการเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันความเจริญไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในนครย่างกุ้ง อย่างที่คนไทยมักจะคุ้นเคยกับถนนมหาบันดูลา อยู่ไม่ไกลจากเจดีย์สุเหล่ เป็นถนนสายธุรกิจการค้า รู้จักกันในย่านไชน่าทาวน์ของเมียนมา

บริเวณนั้นจะมีตึกสูง 8-10 ชั้น จัดได้ว่ามีความเจริญสูงสุดในนครย่างกุ้ง หากแต่ตอนนี้ ความเจริญได้เข้าครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงทำให้ย่านไชน่าทาวน์ของเมียนมาเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความเจริญสูงสุดในนยุคหนึ่งเท่านั้น

2.พัฒนาเส้นทางคมนาคม มีการวางระบบรถไฟโมโนเรลระยะทาง 46 กิโลเมตร รอบนครย่างกุ้ง และสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ที่เชื่อมเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกริช ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมียนมาได้ก่อสร้างถนนสายสำคัญๆ ให้เชื่อมต่อกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และด่านการค้าชายแดน อาทิ ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ที่เชื่อมนครย่างกุ้ง-เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองมุเตา-มะริด ซึ่งถ้านักธุรกิจไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ ก็จะช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมามีความสะดวกยิ่งขึ้น และยังสร้างความคึกคักให้กับการค้าตามแนวชายแดนด้วย

157922182792

"เมียนมาได้พัฒนาเส้นทางคมนาคมที่จะเชื่อมโยงการค้า และพร้อมจะยกระดับความร่วมมือชายแดนกับไทยในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะถนนที่เชื่อมด่านสิงขร ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านไร่เขวา อ.เมือง จ.ประขวบคีรีขันธ์ ตรงข้ามกับหมู่บ้านมูด่องของเมียนมา เป็นทางผ่านไปยังเมืองมะริด ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ที่ผ่านมา มีการผลักดันให้ยกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการค้า แต่ยังติดปัญหาปักปันเขตแดนระหว่างกัน ตอนนี้เพียงแต่รอลุ้นให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้เท่านั้น" ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าว

ทุกวันนี้ รัฐบาลเมียนมายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ดำเนินการก่อสร้างถนนจากเมืองทวายไปเมืองมะริด และปรับปรุงถนนเป็น 2 เลน เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรีส่งผลให้ภาคตะนาวศรีของเมียนมาถูกจับตามองจากนักลงทุนหลายฝ่าย เนื่องจากมีโอกาสด้านการค้า การลงทุน และสามารถสร้างความร่วมมือได้ในหลายสาขา อาทิ การไฟฟ้า การประมง การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์

3. พัฒนาระบบโทรคมนาคม มีการวางเครือข่ายสัญญาณ 4 จีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโทรคมนาคมในเมียนมาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรง เป็นผลการรุกทำตลาดจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยมีผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์หลักๆ 4 ราย คือ MPT Telenor Ooredoo และ MyTel ขณะที่โทรศัพท์มือถือยี่ห้อหัวเว่ยและออปโป้ของจีน ครองตลาดอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ในเมียนมา

4.พัฒนากฎหมายด้านการลงทุน จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2560 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา ดำเนินนโยบายส่งเสริมกระบวนการลงทุนที่โปร่งใสมีประสิทธิภาพ จัดทำกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และปัจจุบันเมียนมาได้เปิดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้แล้ว

157922188036

"ที่สำคัญคือเมียนมาได้จัดทำกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทท้องถิ่นกับบริษัทต่างชาติ โดยกฎหมายธุรกิจฉบับล่าสุดของเมียนมา อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทท้องถิ่นได้ถึง35% ขยายโอกาสให้ต่างชาติดำเนินธุรกิจการค้าได้มากขึ้น" ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าว

5. เมียนมายังส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะไม่เจอปัญหาไฟฟ้าดับเป็นเวลานานในเมียนมาอีกต่อไป เพราะตอนนี้ เมียนมาได้มีการพัฒนาพลังงานหลายด้าน ทั้งสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ และไร่พลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันจีนก็เข้าไปช่วยก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินให้กับเมียนมา ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีการออกกฎหมายควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม

157922185013

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่รวมการเดินหน้าพัฒนาสนามบินพาณิชย์ในหลายเมือง เช่น สนามบินหันตาวดีใกล้กับนครย่างกุ้ง สามารถรองรับผู้โดยสารมากกว่า 12 ล้านคนต่อปี ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าสนามบินนครย่างกุ้งถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ เมียนมา ยังพัฒนาทักษะแรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้น หากมองตามกลุ่มธุรกิจ จะเห็นว่ามีช่องทางและโอกาสที่หลากหลายให้กับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปบุกตลาดเมียนมา เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทั้งในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมประมง เนื่องจากขณะนี้ค่าแรงของแรงงานในเมียนมาอยู่ที่วันละ 90 บาทเท่านั้น