'ฝรั่งเศส' ฝันร้ายของชาวเอเชีย

'ฝรั่งเศส' ฝันร้ายของชาวเอเชีย

'ฝรั่งเศส' ฝันร้ายของชาวเอเชีย บนพื้นฐานความจริงที่ว่าแดนน้ำหอมอาจไม่ใช่สวรรค์ของชาวเอเชีย เมื่อพวกเขาถูกทำร้ายหลายระลอกดูจากรูปการณ์แล้วน่าจะเป็นกระแสทำไปเพราะการเหยียดเชื้อชาติ

ฝรั่งเศส เป็นอีกประเทศหนึ่งในยุโรปที่ชาวเอเชียใฝ่ฝันอยากไปท่องเที่ยว และหลายคนได้ไปตั้งรกรากที่นั่น แต่ยังมีความจริงอีกมุมหนึ่งบ่งบอกว่า แดนน้ำหอมอาจไม่ใช่สวรรค์ของชาวเอเชียก็ได้ เมื่อพวกเขาถูกทำร้ายหลายระลอกดูจากรูปการณ์แล้วน่าจะเป็นกระแสทำไปเพราะการเหยียดเชื้อชาติ

หมิง นามสมมุติ กำลังลงจากรถบัสที่ชานกรุงปารีส แล้วจู่ๆ ชายสวมหน้ากากก็เข้ามากระชากกระเป๋า พอเธอขัดขืนคนร้ายก็ทุ่มเธอลงไปกองกับพื้น แล้วอัดเธออย่างบ้าคลั่ง จนกระดูกหักเป็นสองท่อน แถมยังหวาดผวาหลังเจอเหตุรุนแรง ทำงานไม่ได้ไปสามอาทิตย์

นักเคลื่อนไหวเกรงว่าการทำร้ายดังกล่าว เป็นส่วนหนึี่งของกระแสสร้างความรุนแรงทางเชื้อชาติพุ่งเป้าไปที่ชาวเอเชียที่ได้สัญชาติฝรั่งเศส กระแสนี้ได้แรงหนุนจากการเหยียดเชื้อชาติแบบเหมารวม และความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวร่ำรวย

หมิง จำต้องใช้นามสมมมุติเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีเพราะยังหวาดกลัวว่าตนเองจะไม่ปลอดภัย เล่าว่า เหตุร้ายเกิดขึ้นที่ จ.วาลเดอมาร์น ชานกรุงปารีส เธอถูกฉกกระเป๋า ภายในมีเงินไม่กี่สิบยูโรและบัตรประชาชน แต่หญิงวัย 41 ปี เกิดความรู้สึกโกรธแค้นที่ไม่มีใครช่วยเหลือ ซึ่งเธอต้องก้าวข้ามความรู้สึกนี้ไปให้ได้

“ทำไมถึงเป็นฉัน ฉันไม่มีเงิน ไม่มีเครื่องประดับ ไม่มีอะไรเลย ทำไมมาทำรุนแรงแบบนี้” หมิงตั้งคำถามที่ไร้คำตอบ

157749277561

เมื่อปี 2559 เคยเกิดเหตุมรณกรรมของช่างเสื้อนาม“จาง เจ้าหลิน” ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ทำให้สังคมรับรู้เรื่องการทำร้ายชาวเอเชียเป็นครั้งแรก

คุณพ่อลูกสองวัย 49 ปีรายนี้เดินทางไปร้านอาหารแห่งหนึ่งชานกรุงปารีส แล้วถูกวัยรุ่นสองคนชิงทรัพย์ แต่ได้ไปเพียงเครื่องชาร์จโทรศัพท์และขนมจำนวนหนึ่งเท่านั้น คนร้ายทั้งสองถูกจำคุกในปี 2561

การทำร้ายครั้งนั้นซึ่งตามมาด้วยการปล้นนักท่องเที่ยวและธุรกิจขนาดเล็กของชาวจีนย่านชานเมืองของฝรั่งเศสอีกหลายระลอก ทำให้เกิดการเดินขบวนใหญ่ต้านการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียในชุมชนยากจนของฝรั่งเศส

เนื่องจากฝรั่งเศสห้ามเก็บสถิติเชื้อชาติ จึงไม่มีข้อมูลทางการเกี่ยวกับการโจมตีแบบนี้ แต่นักรณรงค์กล่าวว่าเริ่มมองเห็นแนวโน้มแล้ว

ซัน เลย์ ตัน โฆษกกลุ่มความปลอดภัยเพื่อทุกคน กลุ่มชุมชนที่ตั้งขึ้นในวาลเดอมาร์น กล่าวว่าเหยื่อมักเป็นผู้หญิงหรือคนแก่ ถูกหมายตาตั้งแต่บนถนนแล้วถูกคนร้ายตามไปจนถึงที่เปลี่ยวแล้วจึงทำร้าย

“เหยื่อถูกจับตาเพราะเป็นคนเอเชีย” ตันกล่าว เขาไม่สงสัยเลยว่าการทำร้ายแบบนี้มีรากมาจากแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ

“พวกเขาอ่อนแอ พวกเขามีเงิน พวกเขาไม่รู้วิธีป้องกันตนเอง นี่คือความคิดเหมารวมเบื้องหลังการทำร้าย”

ตำรวจไม่มีตัวเลขการทำร้ายแยกตามเชื้อชาติ มีแต่จำนวนบันทึกประจำวันโดยรวม ระหว่างเดือน พ.ค.2561-2562 เกิดเหตุทำร้ายกัน 114 คดี เท่ากับว่าเกิดเหตุ 1 ครั้งในทุกๆ 3 วัน ส่วนใหญ่เกิดในเขตวาลเดอมาร์น แต่นักเคลื่อนไหวเกรงว่าปัญหากระจายออกไปมากกว่านี้ และกล่าวหาว่าทางการละเลยการเหยียดเชื้อชาติในรูปแบบนี้

หลายคนที่ถูกทำร้ายไม่แจ้งความ เพราะกลัวจะถูกเล่นงานซ้ำ อับอาย หรือเพราะพวกเขาไม่มีใบอนุญาตพำนัก

“การติดต่อคนที่ถูกทำร้ายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเหยื่อรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่ตระหนักว่าคนอื่นๆ ก็กำลังถูกทำแบบเดียวกันนี้ด้วย” เลทิเทีย ชิฟ ประธานสมาคมเพื่อคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส (เอเจซีเอฟ) กล่าว

โรเบิร์ต ณ จำปาสัก เข้าร่วมกลุ่มความปลอดภัยเพื่อทุกคน ซึ่งสนับสนุนเหยื่อให้ต่อสู้ด้านกฎหมายนำคนร้ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อทำลายข้อห้ามเกี่ยวข้องกับการโจมตีแบบนี้

มารดาวัย 64 ปีของเขาเคยถูกทำร้ายระหว่างไปเรียนเต้นเมื่อปี 2560 หลังจากนั้น 18 วันก็เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันในสมอง แพทย์ไม่ได้เชื่อมโยงการถูกทำร้ายกับอาการเส้นเลือดอุดตัน แต่โรเบิร์ตเชื่อว่า เหตุร้ายทำให้สุขภาพของแม่เสื่อมถอยลง

“แม่ผมเป็นคนมีชีวิตชีวา แต่หลังจากถูกทำร้ายเธอไม่อยากออกไปไหน แม่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

เอเอฟพีสอบถามความเห็นจากตำรวจและทางการท้องถิ่นได้ความว่า พวกเขากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อัยการจากวาลเดอมาร์นอธิบายว่า พวกเขาเพิ่มบริบทของการเหยียดเชื้อชาติลงในคดีให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้คดีที่แจ้งความไว้ในเดือน พ.ค. จำนวน 22 คดีมีบริบทเรื่องนี้ถึง 19 คดี

ตำรวจนายหนึ่งเผยว่า เหตุเล่นงานพลเมืองที่เดิมมีสัญชาติเอเชียอาจเป็นวิธีการเพื่อให้ได้เข้าร่วมแก๊ง

“วัยรุ่นบางคนกระหายอยากทำแบบนี้ เพราะถูกปั่นหัวว่าคนเอเชียมักจะพกเงินติดตัวมาก สำหรับวัยรุ่นมันเหมือนกับเกมหรือการพนัน บ่อยครั้งอธิบายได้ด้วยระดับของความรุนแรงในการก่อเหตุ” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่เปิดเผยนามรายหนึ่งเล่า

แต่ชิฟจากเอเจซีเอฟ กล่าวว่า สถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัวโครงการนำร่องร่วมกับสมาคมต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (SOS Racism) เพื่อมุ่งปรับทัศนะเหมารวมที่เป็นอันตรายในโรงเรียนทั่วเขตปารีส หวังช่วยเพิ่มความตระหนักรู้

เท่านั้นยังไม่พอนักรณรงค์ยังผลักดันให้ทางการท้องถิ่นติดตั้งกล้องวงจรปิดและตามตัวผู้กระทำความผิดด้วย

“การป้องกันเป็นสิ่งจำเป็น แต่การจับกุมและจำคุกคนร้ายก็สำคัญสำหรับเหยื่อ”ซัน เลย์ ตันสรุป