ไฟไหม้ "กลุ่ม SCG" เสี่ยงสะเทือนพันล้าน คาดได้ประกันชดเชย ครึ่งปีหลังสดใส

ไฟไหม้ "กลุ่ม SCG" เสี่ยงสะเทือนพันล้าน คาดได้ประกันชดเชย ครึ่งปีหลังสดใส

บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (หุ้น SCC) ยังรอประเมินผลกระทบไฟไหม้ ผู้บริหารสูงสุดยืนยันดูแลเยี่ยวยาผู้รับผลกระทบอย่างดี ด้านความเสียหายต่อกิจการมีประกันครอบคลุมแล้ว ทว่านักวิเคราะห์ห่วงยืดเยื้อ เบื้องต้นคาดต้องแบกรับก่อนไม่ต่ำ 500 ล้าน กรณีเลวร้ายอาจกระทบ 1,709 ล้านในปีนี้

ซ้ำเติมประเด็นลบค่าปรับ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐกรณีละเมิดคว่ำบาตรอิหร่านที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อในตลาดหุ้นไทยคือ SCC เพิ่งออกมาแจงย้ำเพิ่มเติมว่าเรื่องยุติและบันทึกรับรู้ไปปีก่อนหมดแล้ว

ล่าสุดยังเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เหตุการณ์วันที่ 9 พ.ค. 2567 ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ภายใต้เครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อในตลาดหุ้นไทยคือ SCC ที่เพิ่งประสบภัยเพลิงไหม้บริเวณถังจัดเก็บไฮโดรคาร์บอน C9+ จำนวน 1 ถังนั้น

แม้จะมีการรับมือควบคุมสถานการณ์ได้ทันทีตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน มีความร่วมมือกับหน่วยงานราชการจังหวัดช่วยอพยพชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อความปลอดภัย กระทั่งควบคุมเหตุการณ์ได้เบ็ดเสร็จในเวลา 16.35 น.ของวันเดียวกัน ทว่าก็ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน ซึ่งบริษัทในเครือ "ปูนซิเมนต์ไทย" ประกาศพร้อมดูแล เยียวยา และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

อีกทั้งได้ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลมาบตาพุด และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีระยองจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ได้รับผลกระทบในชุมชน

เวลานี้ยังไม่สามารถสรุปชัดเจนถึงตัวเลขความเสียหายที่แท้จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า SCC เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งนักลงทุนต่างตั้งความหวังให้ผลประกอบการเติบโต ซึ่งการเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ย่อมส่งผลกระทบตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่าความเสียหายของทรัพย์สินแม้จะมีประกันภัยไว้แต่บริษัทฯ จำเป็นต้องชำระค่าบำรุงซ่อมแซมไปล่วงหน้าก่อน ที่สำคัญบริษัทย่อยแห่งนี้เกี่ยวโยงกับการดำเนินการในสายธุรกิจโอเลฟินส์ และผลิตภัณฑ์ที่ตามมา

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC ระบุในแถลงการณ์ว่า "MTT (บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) และส่วนราชการอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินการกลับมาดำเนินธุรกิจนี้ จึงจะสามารถประเมินผลกระทบต่อธุรกิจนี้ที่ชัดเจนได้ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น MTT จะเร่งรัดการดำเนินการแก้ไข ติดตามและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการด้วยความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด"

ทั้งนี้ MTT มีความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้แล้ว ดังนี้

1. ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงทรัพย์สินและประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
2. ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
3. การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากกิจการประเภทที่ 3 ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการควบคุมก๊าซปิโตรเลียมเหลว และส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการควบคุมน้ำมัน

อย่างไรก็ตามทางด้านทิศทางผลประกอบการปีนี้ SCC เชื่อว่าจะอยู่ในทิศทางที่ดีต่อไปได้

นางสาวภาวินี โอภาสชัยทัตต์ IR Specialist SCC เปิดเผยในวันเดียวกับที่เกิดเพลิงไหม้ว่า "ทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ยังมีแนวโน้มเติบโต สนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น การเบิกจ่ายจากภาครัฐบาล และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องทิศทางการบริโภคในระดับภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์คาดส่วนต่างกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปีนี้ อุปทานมีเสถียรภาพและอุปสงค์คงที่"

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ต่างประเมินเหตุที่เกิดขึ้นส่งผลเชิงลบต่อ SCC ภายใต้ตัวเลขความเสียหายที่ยังไม่ชัดเจนนัก ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฟื้นฟูหน่วยธุรกิจซึ่งยังต้องรอติดตามความคืบหน้าต่อไป

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ระบุว่า เหตุการณ์ของคลังจัดเก็บ C9+ (9,000ตัน) ยังมีความเสี่ยงที่หากการตรวจสอบยืดเยื้ออาจส่งให้การผลิตของโรงโอเลฟินส์ได้รับผลกระทบ (การตรวจสอบของภาครัฐใช้เวลา 1-2 วัน เพื่อตัดสินว่าปลอดภัยที่จะปิดการใช้ Tank ที่เสียหาย หรือต้องปิดทั้งบริเวณ) ประเมินเบื้องต้น SCC อาจได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่าย/การสูญเสียรายได้จากการเผา C9+ ทิ้ง ที่ต้องรับภาระไปก่อนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

โดยทุกๆ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท จะกระทบกำไร -0.6% ทั้งนี้หากเกิดกรณี Worst Case ที่มีการปิดท่า MTT ยาวมากกว่า 1-2 สัปดาห์ อาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตของโอเลฟินส์ (naphtha ที่นำเข้าราว 66% ของทั้งหมด) ประเมินเบื้องต้น -547 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือ -1,709 ล้านบาทต่อกำไรปกติของปี 2567 นี้

บล. เอเชีย พลัส มีมุมมองสอดคล้องกันว่า ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะเวลาที่ MTT ต้องหยุดดำเนินงาน โดยหากใช้เวลาไม่นานและเป็นการหยุดดำเนินการเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับถังเก็บ C9+ ก็จะมีผลกระทบในวงจำกัดเนื่องจากสาร C9+ เป็นเพียงผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By Product) ที่ได้จากโรงงานโอเลฟินส์ นำไปใช้เป็นตัวทำละลาย (Solvent) ในอุตสาหกรรมผสมสีและล้างสี 

ซึ่ง SCC สามารถเลือกผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ โดยไม่กระทบต่อ Operation ในส่วนของโรงงานโอเลฟินส์ต้นน้ำ อีกทั้ง SCC ได้มีการทำประกันภัยครอบคลุมทุกประเภท ได้แก่ ประกันภัยทรัพย์สิน, ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก, ประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก และประกันภัยความรับผิดชอบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ฝ่ายวิจัยยังไม่มีการปรับประมาณการ SCC ระยะสั้นธุรกิจปีโตรเคมีสายโอเลฟินส์ยังคงถูกกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และมีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากเกิดขึ้นในปี 2566

และ บล. บัวหลวง ประเมินเบื้องต้น คาดว่าหาก SCC ต้องหยุดโรงงานโอเลฟินส์เป็นเวลา 30 วันจะคิดเป็น Downside Risk ต่อประมาณการกำไรปี 2567 ราว 9% อีกทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นแนวโน้มเชิงลบต่อราคาหุ้น เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผลการดำเนินงาน

รวบรวมราคาเป้าหมายพื้นฐานหุ้น SCC จาก 4 โบรกเกอร์ดังนี้

บล.กรุงศรี แนะนำ ซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมาย 340 บาท
บล.เอเชีย พลัส แนะนำเป็นกลาง ราคาเป้าหมาย 320 บาท
บล. บัวหลวง แนะนำ เฝ้ารอดู (Wait and See) ราคาเป้าหมาย 315 บาท
บล.ทิสโก้ แนะนำเป็นถือ ราคาเป้าหมาย 302 บาท