เปิดยุทธศาสตร์ ‘5 แบงก์ใหญ่’ ฝ่าพายุ...ดิจิทัล ดิสรัปชัน

เปิดยุทธศาสตร์ ‘5 แบงก์ใหญ่’ ฝ่าพายุ...ดิจิทัล ดิสรัปชัน

เปิดกลยุทธ์แบงก์ ปรับสาขา อัพสกิลพนักงาน ฝ่าดิจิทัล ดิสรัปชัน และคว้าโอกาสเป็นผู้นำอุตสาหกรรม

หนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจาก Digital Disruption คือกลุ่มอุตสาหกรรมธนาคาร (Banking) โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ที่ต้องปรับบทบาทเมื่อกลุ่มธุรกิจเล็กอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกระโดดลงมาแย่งส่วนแบ่งทางธุรกิจกลุ่มแบงก์ ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มาพร้อมเทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่า Fintech (Finance+Teach) ที่เข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุนเรื่องการเงินการลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อย และประชาชนทั่วไปในอัตราค่าบริการที่ต่ำ

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงคนผู้บริโภค นำไปสู่การสลับขั้วความได้เปรียบทางธุรกิจ ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และยังมองไม่เห็นจุดจบของคลื่นดิสรัประลอกนี้

“กรุงเทพธุรกิจ” พาไปดูความเปลี่ยนแปลงของ 5 ธนาคารใหญ่ ทั้งในเชิงกลยุทธ์ รวมถึงตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปของสาขาธนาคารและจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

157744974371

หากดูข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มเติมจะเห็นชัดเจนว่าจำนวนสาขาในภาพรวมทั้งระบบปรับลดลงต่อเนื่อง จาก 7,016 สาขา ในปี 2559 ลดลงมาเหลือ 6,786 สาขา ในปี 2560 และลดลงมาอยู่ที่ 6,729 สาขา ในช่วงปลายปี 2561 ส่วนจำนวนสาขาธนาคารทั้งระบบล่าสุด ณ เดือนพ.ย.2562 ลดลงอยู่ที่ 6,534 สาขา

แม้ตัวเลขภาพรวมของสาขาธนาคารจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการปิดสาขาเพียงอย่างเดียว เพราะขณะเดียวกัน หลายธนาคารก็มีการเปิดสาขาใหม่หรือปรับปรุงสาขาเดิมให้อยู่ในรูปแบบใหม่รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ปริมาณสาขาที่ลดลงในภาพรวมก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนพนักงานของธนาคารพาณิชย์ ที่พบว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีจำนวนพนักงานที่ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่บางธนาคารกลับมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็น “กลยุทธ์ที่แตกต่าง” แต่นำไปสู่จุดหมายเดียวกัน คือ การเป็นผู้ให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่าเป็นผู้ให้บริการทางการเงินเพียงอย่างเดียว

157746123375

‘กรุงไทย’ แล่นเรือเล็กขนาบเรือใหญ่

ธนาคารกรุงไทย ประกาศเป้าหมายปี 2563 ทยอยปิดสาขาต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะปิดอีกราว 50-70 สาขา เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง ช่วยลดต้นทุนของธนาคาร พร้อมตั้งเป้าหมายลดจำนวนพนักงานลงราว 30% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.1 หมื่นคน โดยแผนการลดพนักงานดังกล่าวจะไม่ใช้การลดหรือปลดพนักงานโดยทันที แต่เลือกใช้วิธี “ไม่รับพนักงานใหม่เพิ่ม”

ย้อนไปช่วง 3 ปีก่อน พบว่า พนักงานของธนาคารกรุงไทยลดลงต่อเนื่อง ในปี 2559 จำนวนพนักงานอยู่ที่ 23,778 คน และลดลงเหลือ 21,764 คนในปี 2561 ขณะเดียวกันจำนวนสาขาของธนาคารกรุงไทย ในปี 2559 มี 1,214 สาขา และลดลงมาอยู่ที่ 1,093 สาขา สะท้อนว่าธนาคารเริ่มปรับกลยุทธ์มาตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา โดยจะขับเคลื่อนองค์กรใน 2 รูปแบบ ทั้งการเป็น “เรือบรรทุก” และ “เรือเร็ว” ซึ่งจะเน้นน้ำหนักไปที่การพัฒนาระบบไอทีมากขึ้น ผ่านการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเป็นมัลติสปีด มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้สามารถเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

157746866448

‘ไทยพาณิชย์’ ต่อเรือเล็กแทนเรือใหญ่

นับตั้งแต่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศลดพนักงาน และลดสาขา ช่วงเดือนม.ค.2561 โดยตั้งเป้าว่าลดสาขาจาก 1,153 สาขาเหลือ 400 สาขา และลดพนักงานจาก 27,000 คน เหลือ 15,000 คน ในปี 2563 ก็มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ปัจจุบัน (ธ.ค.2562) ธนาคารไทยพาณิชย์มีพนักงานรวม 28,361 คน ลดลงจากที่เคยมีสูงสุดถึง 30,282 คน ในปี 2561 สะท้อนถึงทิศทางความเป็นไปได้ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์จะสามารถลดจำนวนพนักงานเหลือ 15,000 คนได้ตามเป้า

เมื่อดูข้อมูลจำนวนสาขา พบว่า ในปี 2561 ธนาคารมีการปรับลดสาขา (traditional branch) ลงมาเป็น 1,019 สาขา โดยหันมาปรับรูปแบบธนาคารบางส่วนมาอยู่ในรูปแบบของ “ศูนย์บริหารความมั่งคั่ง” (Investment Center) 14 สาขา “ศูนย์บริการธุรกิจเอสเอ็มอี” (Business Center) 6 สาขา และ “ศูนย์บริการลูกค้า” (Service Center) 1 สาขา

ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นการใช้ตู้บริการจ่าย ถอน โอน ฝากเช็ค ฯลฯ ด้วยเครื่องอัตโนมัติที่สามารถทอนเงินได้ทุกบาททุกสตางค์มากขึ้น สะท้อนว่าการใช้กลยุทธ์แล่นเรือเล็ก หรือ การสร้าง New business model ผ่านการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เหล่าเทคคัมพานี และฟินเทคต่างๆ แทนการยึดติดกับสินทรัพย์ เงินฝาก หรือสาขาจำนวนมากในอดีต เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด

157746134110

‘กสิกรไทย’ เรือเร็ว ปรับตัวไว เอาใจคนรุ่นใหม่

ธนาคารกสิกรไทย เป็นอีกหนึ่งธนาคาร ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ พยายามเปลี่ยนตัวเองสู่การเป็นดิจิทัลแบงกิ้ง หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงคือการประกาศแผนและวิสัยทัศน์ของปี 2562 โดยมีแผนปิดสาขาธนาคารจากเดิมที่มีทั้งหมด 985 สาขา จะปิดลงประมาณ 80 สาขา แต่จะเปิดเพิ่มในทำเลอื่นอีก 30 สาขา

นับตั้งแต่เผยนโยบาย ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงตามแผน โดย กสิกรไทย มีสาขาล่าสุดเดือน (ก.ย.62) 885 สาขา ลดลงจาก 1,116 ในปี 2559 ระหว่างที่ตัวเลขสาขาค่อย ๆ ลดลงก็เริ่มเห็นการเปิดสาขารูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากสาขาเดิมอย่างสิ้นเชิง เช่น K PARK เน้นเปิดในพื้นที่ชานเมืองให้บริการทางการเงินและบริการรับส่งพัสดุด่วน กาแฟ ฯลฯ พร้อมมีพื้นที่เปิดกว้างให้ลูกค้านั่งทำงาน พักผ่อนหรือทำเวิร์กชอปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือรูปแบบ New K LOBBY (Machine Branch) สาขาอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นให้ลูกค้าทำธุรกรรมพื้นฐานด้วยตนเอง ทั้งเปิดบัญชี ฝากถอนเงินสด ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคาร ฯลฯ

แม้ธนาคารจะปรับทักษะ (reskill) ให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อสร้างทักษะให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงทดแทนการปลดพนักงานออก แต่จำนวนพนักงานของธนาคารก็ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อย เห็นได้จากจำนวนพนักงานปี 2559 ที่ 21,029 คน ลดลงมาอยู่ที่ 20,646 คนในช่วงปลายปี 2561 และลงมาอยู่ที่ 20,402 คนในช่วงเดือน ก.ย. 62 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนสาขาที่ลดลง

157746138345

‘แบงก์กรุงเทพ’ ต่อเรือใหญ่ ให้ใหญ่กว่าเดิม

ขณะที่กรุงไทย ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย เลือกปรับตัวผ่านกลยุทธ์ “ลด” และแตกบริการใหม่ ธุรกิจใหม่ เพื่อความเร็ว คล่องตัว เข้ากับยุคสมัย แต่อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่กลับเลือกใช้กลยุทธ์ในทิศทางตรงกันข้าม นั่นก็คือ ธนาคารกรุงเทพ

ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏสร้างความฮือฮาส่งท้ายปี 62 เมื่อธนาคารกรุงเทพขอเดินเส้นทางที่ต่างออกไปจากเพื่อนร่วมอุตสากรรม โดยการใช้กลยุทธ์ฝ่าดิสรัปชัน “ต่อเรือใหญ่ ให้ใหญ่กว่าเดิม”

การต่อเรือใหญ่ ณ ที่นี้ เปรียบเทียบได้กับการขยายธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมให้กว้างขึ้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการเข้าซื้อกิจการ ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 12 ในอินโดนีเซีย โดยแบงก์กรุงเทพคาดว่า จะสามารถซื้อกิจการแล้วเสร็จได้ในไตรมาส 3 ปี 2020 ทำให้สินทรัพย์ของ BBL เพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยทันทีที่ราวๆ 3.4 ล้านล้านบาท

เมื่อมองถึงภาพการเปลี่ยนแปลงของสาขาธนาคารกรุงเทพ ก็จะพบว่าสวนทางกับหลายๆ ธนาคาร เนื่องจากเป็นเพียงธนาคารเดียวที่จำนวนสาขาคงที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จาก 1,154 สาขา ในปี 2559 มาเป็น 1,155 สาขาในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1 สาขา เท่านั้น ส่วนจำนวนพนักงานในระยะเวลาเดียวกัน ถือว่าลดลง โดยลดจาก 26,871 คนในปี 2559 เป็น 25,287 คนในปี 2561 ซึ่งพนักงานที่ลดลงจำนวน 1,500 คน เป็นการลดลงจากการเกษียณอายุของพนักงานโดยไม่มีการรับเพิ่ม ไม่ได้เป็นเพราะนโยบายการลดต้นทุนพนักงานแต่อย่างใด

157746877171

‘กรุงศรี’ ขยายสาขาแบบใหม่เจาะไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล

หากเปรียบเทียบอัตราจำนวนพนักงาน และจำนวนสาขาของธนาคาร จะเห็นได้ว่าธนาคารกรุงศรีฯ เป็นธนาคารที่มีตัวเลขสวนทางกับธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ นั่นคือมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดนสาขาของธนาคารกรุงศรีฯ เพิ่มขึ้น 45 สาขา โดยในปี 2559 อยู่ที่ 651 สาขา และเพิ่มขึ้นเป็น 696 สาขา ในปี 2562 เป็นไปในทิศทางเดียวกับจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกันจาก 26,886 ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 30,933 คน ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 คน

สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขสวนทางกับธนาคารอื่น ๆ เนื่องจากธนาคารกรุงศรีมีจำนวนสาขาไม่มากเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ประกอบกับพยายามดำเนินการตามกลยุทธ์ ‘Smart’ Channel Strategy สร้างช่องทางการทำธุรกรรมที่ยกระดับให้เหมาะกับยุคดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการขยาย/ปรับรูปแบบสาขาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่คุ้นเคยกับช่องทางที่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ทางธนาคารศึกษามาก่อนหน้านี้

กลยุทธ์ที่แตกต่างกันของแต่ละธนาคารสะท้อนว่า ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการทำธุรกิจยุคดิจิทัลนี้ มีเพียงการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ที่พุ่งเข้ามา พร้อมกันนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจ แก้ไข และปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการยืนหยัดเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ต่อไปได้

ในทางเดียวกันการดำเนินธุรกิจที่มีเทคโนโลยีเปรียบเสมือนเหมือนปุ่มคีย์ลัด ที่ทำให้ธุรกิจพัฒนาในไปในทิศทางต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดด จำนวนพนักงานที่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ไม่สำคัญเท่ากับ “คุณภาพ” ของพนักงานที่พร้อมปรับตัว เพิ่มทักษะความสามารถในการขับเคลื่อนเรือไปได้ถึงเป้าหมายท่ามกลางคลื่นดิสรัปชันที่เชี่ยวกรากได้!