ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ แนะธุรกิจ เปิดรับ 3 โอกาส จากความท้าทาย

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ แนะธุรกิจ เปิดรับ 3 โอกาส จากความท้าทาย

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แนะธุรกิจ เปิดรับ 3 โอกาส จากความท้าทาย ด้านเทคโนโลยี-สังคมสูงวัย-สภาวะอากาศเปลี่ยน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้า โอกาสและความเสี่ยงมิติต่างๆ ร่วมพูดคุยโดย นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้เปิดเผยถึงการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ขยายตัวอยู่ที่ 2.5% และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ในปี 2020 โดยสาเหตุที่ปีนี้เติบโตชะลอตัว เนื่องจากปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีรอยต่อของภาครัฐบาล ทำให้หลายโครงการหยุดชะงัก ยังไม่มีงบประมาณของภาครัฐ ไม่สามารถเติบโตได้

แต่ทั้งนี้เชื่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้ ทั้งจากการส่งออกที่กลับมาเป็นบวก รวมถึงการลงทุนของภาครัฐ ทำให้การลงทุนขนาดใหญ่มีแนวโน้มดี อย่างไรก็ตามตัวเลข 2.8% ยังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพ

157710731285

“ยังไม่พอใจกับการเติบโตระดับนี้ เราจึงต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไปข้างหน้า ด้วยศักยภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ หากไม่ทำอะไรเลยก็อยู่ที่ประมาณ 3.5-4% แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรพอใจ เพราะเราสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจไทย เพื่อผลักดันศักยภาพให้โตได้มากกว่านี้ ยอมรับว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งที่ผ่านมา เพราะกังวลว่าหากส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ห่างมากพอ จะมีผลต่อค่าเงินบาท จึงต้องลดแรงจูงใจต่างชาติเข้ามาพักเงิน”

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงิน การคลัง เป็นการจัดการด้านอุปสงค์ แต่นโยบายที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือนโยบายด้านอุปทาน ซึ่งเป็นนโยบายที่ประเทศไทยต้องการมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว อาทิ นโยบายที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นนโยบายที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำ ทั้งระดับนโยบาย และแรงจูงใจในการปรับไปสู่การผลิตใหม่ การทำธุรกิจแบบใหม่ มากกวว่าแค่การเยียวยา ที่ไม่นำไปสู่การปรับตัวในระยะยาว

ผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า “เรามักจะสนใจไปในช่วงสั้น และทุ่มความคิดเห็นลงไปตรงนั้น แต่เรากำลังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นที่สำคัญมากกว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในช่วงสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไอที ออโตเมชันต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบห่วงโซ่การผลิตของเรา”

ดังนี้ จึงไม่อยากให้มองภาพเศรษฐกิจแค่ในปีหน้า อยากให้มองไปอีก 3 ปีข้างหน้า ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและการบริหารความเสี่ยงเป็นสำคัญ ทั้งความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน บริหารความเสี่ยงเรื่องโครงสร้างทางการเงินของไทย ฯลฯ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจ

157710739734

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยังเอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโลกและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นทั้งความท้าทาย และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 3 เรื่องหลัก ดังนี้

- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Super Aging Society) ที่มักจะพูดกันถึงว่าเป็นข่าวร้าย เนื่องจากมีการท้าทายเรื่องการออม และระบบการดูแลผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามสังคมผู้สูงอายุนำไปสู่พฤติกรรมการใช้เงินและกำลังซื้อที่จะเปลี่ยนไป เนื่องจากตลาดผู้สูงอายุเป็นตลาดใหญ่มากและมีโอกาสทางการตลาดซ่อนอยู่มากเช่นกัน สะท้อนจากธุรกิจที่เจาะกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุมากขึ้น อาทิ โฆษณาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่ปรากฏในโทรทัศน์ อาหารโลว์โซเดียมสำหรับผู้สูง เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ

“การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยก่อน ทำให้มีโอกาสเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคได้ เรามองแต่ความกลัว ฟังวาทะกรรมเยอะๆ แล้วไม่ทำอะไร ไม่ลงทุน อาจทำให้เสียโอกาสไป โดยท้ายที่สุดแล้วธุรกิจต้องปรับตัวเพราะแรงงานไทยจะหายากขึ้น ต้นทุนแรงงานจะแพงเพราะออโตเมชันจะเข้ามา” ดร.วิรไท กล่าว

- การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ โลกร้อน และปัญหาอื่นๆ ทำให้ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือปรากฏการณ์งดใช้ถุงพลาสติกของห้างร้านต่างๆ ที่แตกต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่เปลี่ยน ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศกำลังจะสร้างความเสี่ยงใหม่ๆ ให้กับวิถีชีวิตของเราทุกคน

อย่างไรก็ตามประเทศไทยถือเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี และเป็นแหล่งสินค้าเกษตรที่สำคัญ ดังนั้น การยกระดับสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเป็นเรื่องสำคัญมาก

ระบบชลประทานใหม่ๆ วิธีทำการเกษตรรูปแบบใหม่ พันธุ์ไม้ใหม่ๆ ถ้าทำได้จะเป็นโอกาสสำคัญ เพราะไทย เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการผลิตอาหารเกินความต้องการของคนในประเทศ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบเรื่องอาหาร จึงเป็นโอกาสที่ดีได้

157710744798

- เทคโนโลยี เป็นเรื่องที่เข้ามากระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคการเงินและสื่อได้รับผลกระทบมากที่สุด คนไทยซื้อขายของผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซเยอะมากขึ้นราวแสนออเดอร์ต่อเดือน ทำอย่างไรให้คนไทยมีโอกาสไปร่วมแพลตฟอร์มใหญ่ๆ หรือมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจไทยเอง เพื่อป้องกันให้ต่างประเทศไม่เข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป รวมถึงทำอย่างไรให้ระบบภาษีมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเหล่านี้สะท้อนว่าการสอนให้คนไทยมี Digital Technology Skills เป็นเรื่องสำคัญ

“ถ้ามองเป็นความกลัว โอกาสพวกนี้ก็จะผ่านไป” ดร.วิรไท กล่าวปิดท้าย