นิคมฯ ตะวันออก ระดมแผนรับมือแล้ง 'อีอีซี'

นิคมฯ ตะวันออก ระดมแผนรับมือแล้ง 'อีอีซี'

กนอ.-นิคมอุตสาหกรรม ยืนยันเตรียมแหล่งน้ำสำรองพอรับมือแล้งตะวันออก มั่นโรงงานไม่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการในอีอีซี ห่วง “อีสท์วอเตอร์” ขึ้นค่าน้ำช่วงนี้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กนอ.ทั่วประเทศ 59 แห่ง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีทั้ง กนอ. 14 แห่ง และเอกชนเป็นผู้บริหาร 45 แห่ง

ทั้งนี้ปริมาณการใช้น้ำที่ผ่านมาในนิคมอุตสาหกรรม กนอ.ที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการใช้น้ำ 2.74 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอื่นใช้น้ำ 1.08 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน และหากรวมนิคมอุตสาหกรรมที่ภาคเอกชนบริหารจัดการ จะทำให้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีความต้องการใช้น้ำ 8.48 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งจะมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อรับมือภัยแล้ง ซึ่งในนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีแหล่งน้ำสำรอง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้มี 2 ล้านลูกบาศก์เมตร นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมี 4 แสนลูกบาศก์เมตร และนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย 70,000 ลูกบาศก์เมตร

“กนอ.ไม่เพียงแต่จะมีแหล่งน้ำสำรองสำหรับนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมายังได้มุ่งเน้นโครงการประหยัดน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่โรงงานจะต้องมีการปรับปรุงโรงงานเพื่อลดการใช้น้ำ ในระดำนิคมฯ ก็ได้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ภายในนิคมฯได้ในบางส่วน จึงมั่นใจว่าโรงงานภายในนิคมฯ จะไม่ประสบปัญหาจากภัยแล้ง”

“โรจนะ”เตรียมแหล่งน้ำสำรอง

นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมของโรจนะ ได้ออกแบบและเตรียมแหล่งสำรองน้ำเป็นอย่างดีให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกโรงงาน สามารถจ่ายน้ำสำรองได้อย่างน้อยครึ่งปีโดยที่ฝนไม่ตก ดังนั้นจึงมั่นใจว่านิคมฯของโรจนะทั้งในนิคมฯภาคตะวันออก ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมปลวกแดง จ.ระยอง สวนอุตสาหกรรมบ้านค่าย จ.ระยอง และสวนอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งสวนอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ในอนาคต รัฐบาลควรจะสร้าง และขยายอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น เพราะตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา จนถึงภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะเรื่องน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐควรจะมีมาตรการบริหารจัดการน้ำทั้งจากภัยแล้ง และน้ำท่วมอย่างชัดเจน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนต่างชาติได้รับรู้ ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น

157684960968

“อมตะ”รับมือแล้งได้18เดือน

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นรุนแรงในภาคตะวันออกจนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ ทั้ง 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้วามมาตรการรองรับภัยแล้งมานานกว่า 10 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง ให้รีไซเคิลน้ำทิ้งจากโรงงานภายในนิคมอุตสหากรรมทั้งหมดนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 50% ทำให้ลดการใช้น้ำลงได้มาก รวมทั้งเตรียมบ่อน้ำสำรองมีความจุรวมกันมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับระบบรีไซเคิลที่น้ำน้ำกลับมาได้ได้ 50% ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะรองรับภัยแล้งที่ฝนไม่ตกลงมาเลยได้นานกว่า 1 ปี 6 เดือน จึงมั่นใจว่านิคมอมตะฯ จะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้วทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ในแต่ละปี นิคมอุตสาหกรรมของอมตะ มีการใช้น้ำ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้นำกลับมาใช้ได้ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับอ่างเก็บน้ำของนิคมอมตะอีก 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสหากรรมมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง”

ห่วงต้องการใช้น้ำอนาคตเพิ่ม

ในส่วนของภาพรวมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในภาวะปกติยังคงมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามในอนาคตจะมีประชาชน แรงงาน และมีอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาตั้งในพื้นที่เพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลควรเตรียมในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต โดยมองว่าจำนวนอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในภาคตะวันออก สามารถเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บน้ำได้อีก

นอกจากนี้ ควรรณรงค์ให้โรงงานในพื้นที่ อีอีซี นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงโรงงานให้ลดการใช้น้ำ และส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ 50% ซึ่งเมื่อรวมกับการขยายอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ ก็จะทำให้ในพื้นที่อีอีซี มีน้ำใช้อย่างพอเพียงในอนาคต

157702973794

หวั่น“อีสวอร์เตอร์”ขึ้นค่าน้ำ

แหล่งข่าวโรงงานในอีอีซี กล่าวว่า นอกจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น โรงงานในภาคตะวันออกยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าน้ำเพิ่ม เพราะบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จะขึ้นค่าน้ำกับภาคอุตสาหกรรม โดยจะคิดค่าน้ำจากช่วงชั่วโมงที่ใช้น้ำมากที่สุดมาเป็นฐานคำนวณค่าน้ำทั้งเดือน ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะช่วงที่ใช้น้ำสูงสุดมีไม่กี่ชั่วโมง แต่เวลาส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำไม่มากจะต้องคำนวณค่าน้ำในอัตราสูงสุด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับการปรับขึ้นค่าน้ำในครั้งนี้ เป็นการสวนกระแสที่รัฐบาลพยายามโปรโมทดึงดูดการลงทุนในอีอีซี ทำให้นักลงทุนลังเลที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอีอีซี เพราะสูตรการคำนวณค่าน้ำแบบใหม่มีความซับซ้อน รวมทั้งนักลงทุนคำนวณต้นทุนค่าน้ำได้ยาก เพราะค่าน้ำเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินกิจการ โดยภาครัฐควรเปิดให้มีบริษัทที่เข้ามาจำหน่ายน้ำภาคอุตสาหกรรมหลายราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันดีกว่าให้มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่อาจเป็นการผูกขาด

“ภาคเอกชนมองว่าต้นทุนการดำเนินงานของอีสท์วอเตอร์ไม่ได้เพิ่มขึ้น มีเพียงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นลงตามราคาเชื้อเพลิง แต่ช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ปรับขึ้นแต่อย่างไร รวมทั้งอีสท์วอเตอร์มีรัฐวิสาหกิจถึงหุ้นเกือบ 50% จึงควรจำหน่ายน้ำในราคาที่เหมาะสมและเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือภาคเอกชน แต่หากจำเป็นต้องขึ้นค่าน้ำก็ควรจะกำหนดชัดเจนว่าจะเพิ่มราคาต่อลูกบาศก์เมตรเท่าใด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถคำนวณต้นทุนได้”