'ประเทศ-ประชาชน' ต้องได้ประโยชน์ 

'ประเทศ-ประชาชน' ต้องได้ประโยชน์ 

การประมูล 5จี ครั้งนี้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าโครงสร้างประเทศอย่างมหาศาล โดยเฉพาะภาพใหญ่ที่จะผลักดันให้โครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นไปในทิศทางที่ดีท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เป็นกลไกสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา 5จี ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า 5จี เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงและทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคนี้ หากเข้าสู่ยุค 5จี อย่างสมบูรณ์แบบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศในหลายๆ ระบบในเวลาเดียวกัน ทั้งระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม และชีวิตประจำวันของทุกคน

ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น ภาคการเงิน การผลิต การเกษตร โลจิสติกส์ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ถูกหลอมรวมไปสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมากขึ้น 5จี คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญของโลก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสังคม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การสาธารณสุข ทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทอย่างไร้พรมแดน ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มการเข้าถึงทางการแพทย์และสาธารณสุข การรักษาพยาบาลผ่านทางไกล เท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. จะจัดให้มีการประมูล 5จี ขึ้น โดยคาดว่าจะประมูลใน 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ รวมทั้งสิ้น 53 ใบอนุญาต ราคาประมูลโดยรวม 134,201 ล้านบาท แต่ กสทช.คาดว่า สามารถนำเงินเข้ารัฐจากการประมูลได้ จำนวน 37,070 ล้านบาท จาก 2 คลื่นความถี่ คือ 2600 และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจจากโอเปอเรเตอร์มากที่สุด

157667794887

การประมูล 5จี ครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่อาจมี 2 รัฐวิสาหกิจทั้ง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคมเข้าร่วมประมูลด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) บอกว่า ต้องการให้ 5จี เข้ามามีบทบาทในภาคบริการสาธารณะ เช่น ภาคการสาธารณสุข และระบบการขนส่ง ที่สำคัญคือการแพทย์ สาธารณสุข ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญกับประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเห็นว่า ทีโอที และ กสท น่าจะทำบทบาทนี้ได้ดีกว่าเอกชน เพราะหากคลื่นไปอยู่กับเอกชนทั้งหมด อาจมีประชาชนบางกลุ่ม หรือภาคสังคมไม่สามารถเข้าถึงบริการบน 5จี ได้อย่างทั่วถึง  

เราเห็นว่า การประมูล 5จี ครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าโครงสร้างประเทศอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในภาพใหญ่ที่จะผลักดันให้โครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นไปในทิศทางที่ดีท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการประมูลในทุกขั้นตอน การตัดสินใจ การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชนให้มากที่สุด คลื่นความถี่ คือ ทรัพยากรของชาติ ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ต้องมีส่วนรับผิดชอบให้เกิดการใช้งานอย่างประสิทธิภาพยิ่งประเทศและประชาชนต้องได้ประโยชน์อย่างสูงสุด