อุตฯยานยนต์ระส่ำอีก ผลข้อตกลงค้าเสรีสหรัฐ

อุตฯยานยนต์ระส่ำอีก ผลข้อตกลงค้าเสรีสหรัฐ

“ทูตพาณิชย์สหรัฐ” ห่วงข้อตกลงการค้าเสรีเม็กซิโก แคนาดาและสหรัฐ ที่จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า ทำส่งออกยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้าระส่ำ เหตุสินค้าไทยเผชิญสถานการณ์แข่งดุด้านราคา หลังสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาได้แต้มต่อด้านภาษี

นางสาว นิธิมา ศิริโภคากิจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ร่างข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (United States – Mexico – Canada Agreement หรือ USMCA) ซึ่งจะนำมาใช้แทนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement หรือ NAFTA) ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2537 ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรมในต้นปีหน้า ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดการส่งออกสินค้าของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดลดลงและอาจจะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เม็กซิโกและแคนาดาเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาด เช่น สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สินค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับไทยส่งสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไปสหรัฐ ปี 2561 มูลค่า 29,373 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.8%  ม.ค.-ต.ค. 2562 มูลค่า 6,567 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11.8% ส่วนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ปี 2561 มูลค่า 20,864 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.1% ม.ค.-ต.ค. 2562 มูลค่า 17,582 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึึ้น 2.7% 

 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวควรที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับแนวโน้มตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเน้นการพิจารณาเพิ่มปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะด้านการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำและยังคงความสามารถในการแข่งขันได้ 

เพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่สินค้า เช่น ใช้ Functional textile ในการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ผลิตยูนิฟอร์มสำหรับแพทย์/พยาบาล คิดค้น smart electronic equipment ที่ง่ายต่อการใช้งาน รวมถึงเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเชิงรุกต่างๆ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐ การเดินทางมาพบลูกค้าเพื่อเสนอขายสินค้าโดยตรง 

นอกจากนี้ ยังควรที่จะพิจารณาหาตลาดส่งออกสำรองเพื่อทดแทนสัดส่วนการส่งออกบางส่วนที่อาจจะลดลง อีกทั้ง ในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความพร้อมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมอาจจะพิจารณาแผนการย้ายฐานการผลิตไปตั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกแทนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

การมีผลบังคับของUSMCAใกล้เคียงกับช่วงที่สินค้าไทย 573 รายการจะถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้โครงการ Generalization System of Preferences หรือ GSP จากรัฐบาลสหรัฐ อันเนื่องมาจากประเด็นด้านสิทธิแรงงานในประเทศไทยสอดคล้องกับแนวโน้มการเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าของสหรัฐ ที่ผ่านมาเป็นที่น่าสังเกตว่าประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นด้านแรงงาน รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมักจะประเด็นที่สหรัฐให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ดังนั้น ฝ่ายตัวแทนการเจรจาของไทยจึงควร ให้ความสนใจเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดกลยุทธ์การเจรจาในอนาคต โดยการเจรจาข้อตกลง USMCA นั้นสหรัฐจะนำไปใช้เป็นแม่แบบในการเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ในอนาคต

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป การสัมมนา”ก้าวต่อไปของไทยหลังปิดดีลอาร์เซ็ป “ ว่า แม้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป  ว่า  ในช่วงเดือนพ.ย.2563 จะมีการลงนามอาร์เซ็ปในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศเวียดนาม และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้โดยเร็วหลังประเทศสมาชิกผ่านกระบวนการให้สัตยาบันภายในประเทศเสร็จเสร็จแล้ว