'คน' Top Tech for Future Smart Cities

'คน' Top Tech for Future Smart Cities

เวทีเสวนาขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะแบบยั่งยืน ผ่านมุมมองเครือข่ายทั้งภาคอสังหาฯ การแพทย์ พรรคการเมือง เห็นพ้องต้องกันระบุ “คน” กลไกสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องมาก่อนเทคโนโลยี “ดีป้า”ย้ำคุณสมบัติพลเมืองของสมาร์ทซิตี้ต้องช่วยเหลือและแบ่งปัน

ในการสัมมนาหัวข้อ Top Tech for Future Smart Cities ในงาน OllO Thailand TECHLAND 2019 เมื่อเร็วๆนี้ มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ว่า การส่งเสริมในเรื่องของสมาร์ทซิตี้สำหรับดีป้านั้นมีหลายประการไม่ว่าจะเป็นนโยบาย การระดมทุน การจับคู่และการลงทุน ซึ่งมีทั้งท็อปเทคและไม่ท็อปเทค โดยจะเน้นที่เอสเอ็มอีเป็นหลักเพื่อส่งเสริมให้สามารถต่อยอดสู่ธุรกิจได้

157555685293

การจับคู่กับภาคเอกชนนั้น ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาก็จะเป็นของเอกชนในการทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่ละโครงการก็จะกำหนดหัวข้อที่จะลงทุน อีกทั้งในเชิงการปรับปรุงธุรกิจก็จะมีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่มีอยู่ เป้าหมายก็เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีไทยเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัล

ส่งผลให้เกิดประโยชน์ 2 ด้านคือ 1.ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เนื่องจากเกิดการลงทุนในเทคโนโลยีและการจ้างงาน 2.ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นเมื่อได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกและประโยชน์ในด้านต่างๆ

หัวใจของ Future Smart Cities ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นโมเดลหลักการในการคิด อีกทั้งข้อมูลที่เก็บต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย ต้องสร้างรายได้หรือเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน คนที่เป็นเจ้าของดาต้าทั้งหลายต้องมีนโยบายในการสร้างรายได้ ถ้า business model ชัดเจนก็จะเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย จึงจะสร้างเมืองอัจฉริยะได้

"คนต้องสมาร์ทก่อน ไม่ใช่แค่มีมันสมองที่ฉลาด แต่ต้องมีความรู้สึกที่อยากช่วยเหลือและแบ่งปันกันทั้งภาครัฐ เอกชน และพลเมือง ต้องมองไปข้างหน้า อย่ายึดติดและลองเปิดใจรับสิ่งใหม่เข้ามาพัฒนา” มนต์ศักดิ์ กล่าว

157555681554

นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ผสมผสานและ wellness รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า พัฒนาการทางการแพทย์จะช่วยดูแลผู้ป่วยได้ลึกขึ้นและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น จากการเก็บบันทึกข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าหากรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ได้ในเมือง เราก็จะมีวิธีการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น สมาร์ทซิตี้ก็คือคน คนต้องสมาร์ทก่อน เราอย่าไปคิดว่าความฉลาดหรือเทคโนโลยีนั้นสำคัญที่สุด ความฉลาดในทางด้านจิตใจก็สำคัญเช่นกัน เพราะถ้าคนสมาร์ทจากภายในแล้วไม่ว่าจะมีโจทย์สมาร์ทซิตี้ในระดับใดก็จะพัฒนาได้อย่างง่ายดาย

“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี”

ด้าน ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มนุษย์หรือคนจะเป็นคนกําหนดชะตาหรือรูปแบบเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีโดยตรง หากมองเมืองต้องคิดถึงจุดแข็งของเมือง เช่น กรุงเทพฯ มีจุดแข็งด้านขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณี ทําอย่างไรถึงจะถูกดึงมาใช้ให้โดดเด่นในยุคดิจิทัล ทั้งการเพิ่มรายได้และการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายของประชาชนทั่วไป

157555688914

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะจึงไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่อยู่ที่กรอบความคิดที่จะใช้บิ๊กดาต้าไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือสร้างประโยชน์ในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่า ทั้งนี้ ข้อมูลนั้นเปรียบเสมือนน้ำมันดิบ ต้องกลั่นและสังเคราะห์ก่อนที่จะนํามาใช้ เช่นเดียวกับเมืองซึ่งมีข้อมูลมหาศาล จึงต้องการการจัดเก็บและวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

ในวัฏจักรที่เรากำลังมุ่งให้เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีเศรษฐกิจแบ่งปันรวมอยู่ด้วย ในโลกปัจจุบันที่ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์มีอย่างจำกัด เมืองอัจฉริยะจึงต้องเป็นเมืองที่จะนำเทคโนโลยีมาต่อยอดส่งเสริมให้ทรัพยากรที่มีจำกัดใช้แล้วเกิดประสิทธิผลหรือเพิ่มผลผลิตได้

ขณะเดียวกัน เมืองอัจฉริยะต้องสร้างบรรยากาศที่ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มจากเทคโนโลยี, ต้องนึกถึงวัฏจักรของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกลงได้ ซึ่ง Partnership for all goals การสร้างเครือข่ายและการสร้างตัวชี้วัดสําคัญมาก เช่นเดียวกับการหา Partner City ที่เป็นเมืองอัจฉริยะ เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกันแบบเมืองพี่เมืองน้อง

ผนึกกำลังสร้างต้นแบบ “สมาร์ทซิตี้” แห่งแรก

ด้านผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ อรุช ช่างทอง กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจในอีอีซี บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองในเรื่องของสมาร์ทซิตี้ว่า ออริจิ้นดำเนินธุรกิจมากว่า 10 ปี ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ได้ขยายสู่พื้นที่อีอีซีตั้งแต่ปี 2558 และปี 2562 มีโครงการออริจิ้น สมาร์ท ซิตี้ ระยอง เป็นแลนด์มาร์กบริเวณสี่แยกเนินสำลี ถ.สุขุมวิท มูลค่าโครงการรวมกว่าหมื่นล้านบาท

157555693869


“อีอีซีไม่ใช่เมกกะโปรเจคทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่มีการสร้างเมืองใหม่ด้วย เรามองว่าพื้นที่ในอีอีซีมีศักยภาพ สอดคล้องกับการที่รัฐเร่งสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซี เราจึงบุกหนักจับมือกับภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำหลายแห่ง ร่วมผลักดันโครงการฯ ให้มีความสมาร์ท 3 ด้าน ได้แก่ Smart Tech, Smart Eco และ Smart Community มีคอนเซ็ปต์ว่า Beyond A Living Platform สร้างแลนด์มาร์กใหม่สู่ Lifestyle Hub" โดยได้ร่วมกับหลายองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อเติมเต็มสมาร์ทซิตี้และสมาร์ทแพลตฟอร์มไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้าน Smart Eco ทำให้มีการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทรานส์ฟอร์มด้านพลังงานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม


"เรามองว่า เรื่องโซลาร์เซลล์จะต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เวลาลูกบ้านกดปุ่มก็จะทราบได้ทันทีว่า วันนี้โซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดไฟได้เท่าไร ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก เพราะเมืองอัจฉริยะคือเมืองน่าอยู่ที่มีโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคครบครัน ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เดินทางสะดวกขึ้น สุขภาพดีขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆได้” อรุช กล่าว