Green Pulse l “Wasteless Delivery” ลดขยะเดลิเวอรี่ 1.2 ล้านชิ้น

Green Pulse l “Wasteless Delivery”  ลดขยะเดลิเวอรี่ 1.2 ล้านชิ้น

“ขยะ” เป็นหนึ่งในตัวการที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก และต้นเหตุหลักก็เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ อันมาจากทั้งการบริโภค การใช้สินค้า และการบริการต่างๆ อย่าง การบริการเดลิเวอรี่

กลุ่มภาคธุรกิจที่ศูนย์วิจัยกสิกร คาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีมูลค่าตลาด 35,000 ล้านบาท จา ก 140 ล้านออเดอร์ต่อปี เฉลี่ย 250 บาท ต่อ 1 ออเดอร์ โดย 1 ออเดอร์ สร้างขยะ 4 ชิ้น คือ จากกล่อง พลาสติก ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนส้อม ทำให้มีปริมาณขยะจากเดลิเวอรี่ 560 ล้านชิ้นต่อปี

ดังนั้น “Wasteless Delivery” โมเดลบริการจัดส่งอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่น เจ้าของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา (Charna),สเปซคิว (Space Q) และเรดซัน (Red Sun) ลดขยะ Single-use plastics จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.2562 ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่าการทำธุรกิจของฟู้ดแพชชั่น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในเรื่องวงจรแห่งความสุขที่ไม่เพียงแค่ต้องการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังต้องมีส่วนสำคัญช่วยสานต่อสังคมที่ยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น เมื่อขยายธุรกิจด้านอาหารไปสู่บริการเดลิเวอรี่ จึงได้จัดโมเดลธุรกิจบริการเดลิเวอรี่ด้วยแนวคิดWasteless Delivery ลดขยะ Single-use plastics โดยมองว่าการเข้ามาในตลาดเดลิเวอรี่ต้องช่วยลดปัญหาเรื่องขยะ Single-use plastics ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังเป็นวิกฤติการณ์ต่อทั้งประเทศและโลก

“แนวคิดการรักษ์โลก ไม่ใช่ทำเพราะเป็นมุมแฟชั่น หรือกระแสแต่ต้องประกอบเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจจริงๆ"

ชาตยากล่าวว่า โมเดล Wasteless Delivery จะพลิกโฉมบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกคงค้างโดยการเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้ และหากต้องมีการใช้พลาสติกต้องมีการส่งเสริมให้นำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น เป้าหมายการลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบ Single-Use Plastics ของฟู้ดเดลิเวอรี่ ปี 2563 นี้มากกว่า 1.2 ล้านชิ้น ควบคู่กับเป้าหมายธุรกิจในการสร้างสัดส่วนยอดขายเดลิเวอรี่ในสาขาที่เป็น Hub ให้ได้ 10% ของยอดขายรวม แต่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริการเดลิเวอรี่, ผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมถึงผู้ใช้บริการด้วย, ชาตยากล่าว

ความต้องการลดขยะ Single-use plastics ฟู้ดแพชชั่น ไม่สามารถทำได้ด้วยองค์กรเดียว ดังนั้นจึงได้มีความร่วมมือกับ Duni, โครงการวน, และ GrabFood โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันสร้างมาตรฐานใหม่ของฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ไม่สร้างภาระให้กับโลก

กระบวนการในการลดขยะครั้งนี้ จะเน้นลดขยะ Single-Use Plastics ที่จะมีการนำเสนอเมนูหลากหลายในเครือที่มีคาแรคเตอร์ต่างกัน ขยายHub เดลิเวอรี่ ครอบคลุมทุกพื้นที่ เน้นการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ให้กับลูกค้า และจัดการระบบหน้าร้านให้ราบรื่นเพื่อสร้างความพึงพอใจ

โดยทุกกระบวนการ จะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรทั้ง บริษัท เทอริเนกซ์ สยาม จำกัด ได้ผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อย สามารถย่อยสลายได้เองในเวลาเพียง 45 วันเท่านั้น และยังรักษาคุณภาพของอาหารเสมือนรับประทานที่ร้าน หรือทางโครงการวน บริษัททีพีบีไอ จำกัด ช่วยออกแบบและพัฒนาถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล มีความหนาถึง 5 เท่า ในบริการจัดส่งอาหาร

ทุกออเดอร์ เพื่อให้ผู้บริโภคนำถุงพลาสติกกลับมาใช้หมุนเวียนได้ใหม่มากกว่า 20 ครั้ง ซึ่งเป็นการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และสุดท้าย บริษัท แกร็บ ประเทศไทย ผู้นำด้านแพลตฟอร์มการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ได้ริเริ่มแนวคิดช่วยลดขยะ Single-Use Plastics ในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ อาทิ การมีฟีเจอร์ที่ให้ลูกค้าสามารถกดเลือกรับหรือไม่รับช้อน-ส้อม และมีดพลาสติกเมื่อสั่งอาหาร รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าหันมาใช้ถุงกระดาษเพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ชักชวนให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับประเด็นดังกล่าว

ลูกค้ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยการไม่รับช้อน-ส้อมพลาสติกจะได้รับส่วนลดวันนี้ถึงสิ้นปี