‘ดีดับบลิว’วอลุ่มพุ่ง ห่วง‘โรบอท’แย่งซื้อ

‘ดีดับบลิว’วอลุ่มพุ่ง ห่วง‘โรบอท’แย่งซื้อ

นักลงทุนแห่เทรด “ดีดับบลิว” ส่งผลวอลุ่มสะพัด เผย 10 เดือนปี 62 มูลค่าเทรดพุ่ง 49% แตะระดับ 1.24 ล้านล้าน “บล.บัวหลวง” ชี้ผลจาก นักลงทุนต่างชาติ เริ่มนิยมเทรดผ่านโปรแกรม “เอชเอฟที” ห่วงสะเทือนรายย่อย-โบรกเกอร์ เหตุเคาะซื้อไม่ทัน

มูลค่าซื้อขาย DW ช่วง 10 เดือนแรก 2562 อยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 49 % เทียบกับช่วงเดียว กันปีก่อนที่ 8.31 แสนล้านบาท ขณะที่มี มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.09 พันล้านบาท  เพิ่มขึ้น 50 %  จาก10 เดือนปี2561 อยู่ที่ 4,058 ล้านบาทต่อวัน

มูลค่าการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(DW) ในช่วง 10 เดือนปี 2562 อยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่เพียง 8.31 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 6.09 พันล้านบาท

นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการกิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)หรือ BLS เปิดเผยว่า มูลค่าการซื้อขาย DW ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการซื้อขายหุ้นโดยรวมที่ 15% เทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งมีสัดส่วนราว 9-10% 

จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า มูลค่าการซื้อขาย DW ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อขาย โดยใช้โปรแกรมเทรด การส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง (High Frequency Trading) เข้ามาซื้อขายมากขึ้น ทำให้ขณะนี้คาดว่า สัดส่วนนักลงทุนที่เข้าซื้อขาย DW นั้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศสูงกว่านักลงทุนรายย่อย

ทั้งนี้สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขาย DW มากขึ้น โดยส่งคำสั่ง  HFT  เนื่องจาก ใช้เงินที่น้อยกว่าการเทรดหุ้นในกระดานปกติ ขณะ ที่มีอัตราทดที่สูงกว่า และราคามีการเคลื่อนไหวเร็วกว่า  หุ้นหลัก รวมถึงค่าคอมมิชชั่นต่ำ แม้กำไรต่อครั้งไม่มากแต่อาศัยความเร็วในการซื้อๆขายๆ ซึ่งพฤติกรรมการซื้อขายดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยทำให้มีการซื้อขายน้อย เพราะ มองกว่าอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย

'ส่วนตัวมีความกังวล DW เป็นสินค้าที่มีไว้เพื่อเก็งกำไร คนที่เก็งกำไรคือนักลงทุนบุคคลทั่วไป ซึ่งนักลงทุนบุคคลจะมีจังหวะการซื้อขายของตัวเอง แต่พอ HFT เข้ามาก็จะมีการเก็งกำไรเร็วมาก  พอหุ้นกำลังเปลี่ยนทิศทาง HFT ก็จะเข้ามาซื้อหรือขายแล้ว ขณะที่นักลงทุนราย่อยยังไม่ทันตั้งตัวก็มา กวาดออเดอร์ไปก่อน '

สำหรับโบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่ออก DW นั้น ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะ เมื่อมีการออก DW นั้นโบรกเกอร์จะมีการป้องกันความเสี่ยง โดยต้องมีการซื้อหุ้นในกระดาน แต่พอ HFT เข้ามาเทรดนั้น มีการซื้อขายเร็ว ทำให้บริษัทผู้ออกต้องมีการซื้อขายหุ้นหลัก เร็วเช่นกัน ทำให้ต้องซื้อหุ้นหลักแพง แต่ขายในราคาที่ถูก   ซึ่งหากผลกระทบดังกล่าวมากขึ้น ก็อาจมีผลทำให้ต้องออก DW ลดลง โดยที่ผ่านมากลุ่มโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ออกเสนอขาย DW ได้มีการเข้าไปหารือกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย (ตลท.) ถึงข้อกังวลแล้วต่างๆ

 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากมีกรณีHFT เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ จากอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นกับทางโบรกเกอร์