‘ทีเอ็มบี’ คาดไตรมาส 4 สำรองหนี้ลด

‘ทีเอ็มบี’ คาดไตรมาส 4 สำรองหนี้ลด

“ทีเอ็มบี” คาดไตรมาส 4 ปีนี้ การตั้งสำรองลดลง หลังไตรมาส 3 ตั้งไปแล้ว 2.8 พันล้านบาท มอง Coverage Ratio ปัจจุบันที่ระดับ 140% เพียงรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 มองสินเชื่อปีนี้เติบโต 3% แม้ 9 เดือนปีนี้ ทำได้ 1.1% หวังปลายปียอดปล่อยสินเชื่อกระเตื้อง

นางสาวดารารัตน์ อุระพันธมาศ หัวหน้านักลงทุนสัมพันธ์ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อปี 2562 คาดว่าจะอยูที่ 3 % แม้ในช่วง 9 เดือนปี2562 จะโตเพียง 1.1% เนื่องจากปกติสินเชื่อจะเติบโตในช่วงไตรมาส 4   ทั้งจากกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ ที่จะนำเงินไปใช้ในการทำธุรกิจ สินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอี ธนาคารจะระมัดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

 นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงไตรมาส4 ปีนี้ ธนาคารจะมีการตั้งสำรองหนี้ไม่มากแล้ว หลังจากในช่วงไตรมาส 3ปีนี้ได้ตั้งสำรองไปแล้วกว่า 2.8พันล้านบาท อีกทั้งระดับการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ที่ระดับ 140%  เป็นระดับที่เผื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ครบแล้ว  ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนที่จะมีการลดต้นทุนการดำเนินงานเพื่อให้ Credit Cost กลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมย ที่  125-130 bps  จากช่วง 9 เดือนของปีอยู่ที่ 141 bps 

" ยังมั่นใจว่า เป้าหมายทางการเงินปีนี้จะทำได้ตามแผน โดยตั้งเป้าเงินฝากโต 3-5 % สินเชื่อโต 2-4 % ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย ( NIM) 2.86-2.93 %   และ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น้อยกว่า 2.9 % โดย 9 เดือนอยู่ที่ 2.52 %"

สำหรับความคืบหน้าการควบรวมกิจการกับธนาคารชาต อยู่ระหว่างให้ผู้ถือหุ้นTMB ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยคาดว่ากระบวนการซื้อขายหุ้นจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือนควบรวมกิจการกันแล้วเสร็จ โดยสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารหลังควบรวม ทั้งไอเอ็นจี ทุนธนชาต และกระทรวงการคลัง จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใกล้เคียง

ทั้งนี้ หลังควบรวมกิจการ จะทำให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น จากอันดับ 7 เป็นอันดับ 6 และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย ซึ่งปัจจุบัน TMB มีฐานลูกค้าอยู่6 ล้านราย และธนาคารธนชาตอยู่ที่ 4 ล้านราย ขณะที่ขนาดของสินเชื่อของTMB เพิ่มขึ้น 2 เท่า ดังนั้น เมื่อรวมกันก็จะมีบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น มีการประหยัดจากขนาด  ( Economy of Scale)

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)หรือ CNS  ระบุว่า บริษัทยังคงคงมุมมองต่อดีลการควบรวม ซึ่งในช่วงแรกของการควบรวมผลประกอบการอาจยังไม่เด่นมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการควบรวม เช่น การปิดสาขาที่ทับซ้อนกัน โดยมองว่าต้องรอในปี 2564  จะมี EPS ที่สูงกว่า TMB เดิม 

แต่ในระยะยาวเรายังคงมุมมองบวกการควบรวม TMB และ TBANK จะช่วยทำให้สินทรัพย์ธนาคารใหม่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นอันดับ 6 ที่ 1.9 ล้านล้านบาท และมีพอร์ตสินเชื่อใหญ่เป็นอันดับ 6 เช่นกันที่ 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบกับคาดมีประโยชน์จากการควบรวม (synergy) ที่เกิดขึ้น เนื่องจากธนาคารทั้ง 2 มีจุดเด่นที่แตกต่างกันชัดเจน โดย TMB มีจุดเด่นในด้านลูกค้าธุรกิจโดยเฉพาะลูกค้า SME และเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เงินฝากที่แตกต่างจากท้องตลาด ในขณะที่ TBANK เด่นในด้านลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ โดยประเมินราคาเป้าหมายเบื้องต้นของธนาคารใหม่ที่ราว 1.8-1.9 บาทต่อหุ้น