นับถอยหลังตัดสินค่าโง่เหมืองทอง

นับถอยหลังตัดสินค่าโง่เหมืองทอง

ปัญหากรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 ปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2559 ส่งผลให้ภาคเอกชนฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

     ล่าสุดความขัดแย้งดังกล่าวก็ใกล้ถึงจุดยุติ โดยในวันที่ 18-29 พ.ค. 2562 ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะขึ้นไต่สวนในคดีนี้ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาคดี 3-5 เดือน ขึ้นอยู่ว่าศาลจะไต่ส่าวนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ จากนั้นศาลอนุญาโตตุลาการก็จะตัดสินคดี ซึ่งหากผลการตัดสินให้เอกชนเป็นผู้ชนะ รัฐบาลก็อาจจะต้องเสียเงินชดเชยกว่า 2 หมื่นล้านบาท

     โดย ปัญหาเหมืองทองชาตรี เริ่มมาจากในวันที่ 24 ส.ค. 2557 นายสมิทธ ตุงคะสมิทธ จากมหาวิทยาลัยรังสิต รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 1,004 คน ที่อาศัยในเขตใกล้เหมืองปรากฏว่าพบสารแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 41.83% และ สารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน 5.88%
     วันที่ 16 ม.ค.2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำการสุ่มตรวจ และพบว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง มีโลหะหนักในกระแสเลือด จึงออกคำสั่งให้บริษัท อัคราฯ หยุดประกอบกิจการ เป็นเวลา 30 วัน อย่างไรก็ตาม ในเดือนเม.ย. กพร. จ้างบริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำมาตรวจสอบที่เหมืองชาตรีปรากฎว่าไม่พบไซยาไนต์รั่วไหลแต่อย่างใด
     วันที่ 14 ธ.ค. 2559 ความขัดแย้งในพื้นที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีกลุ่มชาวบ้านมีทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมืองทองคำ และฝ่ายที่ต่อต้านอยากให้เหมืองยุติ จนในที่สุด ดังนั้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 ประกาศว่า “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ จะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป
     ขณะที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ต้องระงับการอนุญาตให้สำรวจ หรือทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงระงับการต่ออายุสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการ ต้องฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตามที่กำหนดไว้ในรายการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม

     วันที่ 31 ธ.ค. 2559 เมื่อถูกระงับไม่ให้ทำเหมือง ส่งผลให้บริษัท อัครา ปลดพนักงานทั้งหมด 164 คน รวมถึงพนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องอีก 450 คน ก็ถูกเลิกจ้าง และหยุดการทำงานของเครื่องจักรในการผลิตทั้งหมด ก่อนจะหยุดดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 ม.ค.2560 และในวันที่ 28 ก.พ. 2560 ปลดพนักงานล็อตสุดท้ายทั้งหมด จำนวน 101 คน
     3 เม.ย. 2560 หลังจากไม่ได้รับโอกาสในการเข้าพบรัฐบาลไทย บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ตัดสินใจส่งจดหมายแจ้งรัฐบาลใช้สิทธิ์ หารือ (Consultation Process) ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และในวันที่ 2 พ.ย. 2560 คิงส์เกทฯส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรื่องการเข้าสู้พิธีการอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ TAFTA
     24 ธ.ค. 2560 กรมควบคุมมลพิษ พร้อมองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก แถลงผล ไม่พบไซยาไนด์ ในนาข้าว และในวันที่ 18 ธ.ค. 2560 คณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 พิจารณาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยมีมติให้เขียนใบปะหน้าว่าเป็นความเห็นของผู้วิจัยที่ยังมีข้อโต้แย้งจากคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่าน โดยให้แนบข้อโต้แย้งในภาคผนวก และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน วันที่ 28 ก.พ. 2561 ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ (คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) เพื่อรับรองรายงาน แต่ยังมีข้อโต้แย้งในที่ประชุม จึงให้นำรายงานกลับไปแก้ไข

     วันที่ 28 ก.พ. 2561 บริษัท อัคราฯ ส่งจดหมายชี้แจงสื่อมวลชนเห็นแย้งรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากพบข้อขัดแย้งทางวิชาการมากมายจากผลที่คณะผู้วิจัยได้เปิดเผย ตลอดจนความไม่เหมาะสมของเครื่องมือและเทคนิคในการตรวจสอบ และการแปลผลอย่างมีอคติ เป็นต้น ซึ่งข้อขัดแย้งทั้งหมดจากนักวิชาการภาครัฐและบริษัทฯ ได้ถูกรวบรวมไว้ในรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว

     ในช่วงเดือน เม.ย. 2562 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด ลิมิเด็ต ออกแจ้งว่า บริษัทซูริก อินชัวรันซ์ ออสเตรเลีย และธุรกิจประกันที่เกี่ยวข้อง ยอมรับข้อตกลงการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด และจ่ายเงินชดเชยให้แก่คิงส์เกต รวม 82 ล้านดอลลาร์ หรือ 2,542 ล้านบาท หลังจากกลุ่มบริษัทประกันยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บ.คิงส์เกต เป็นความเสี่ยงทางการเมือง
     ในช่วงเดือน ส.ค. 2562 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด ลิมิเด็ต ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอนัดหมายเข้าพบเพื่อเจรจาหารือก่อนกระบวนการไต่สวนอนุญาโตตุลาการจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2562 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
     ในเดือน ต.ค. 2562 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด ลิมิเด็ต ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อีกครั้งหนึ่ง เพื่อติดตาม ทวงถาม ความคืบหน้าสืบเนื่องจากจดหมายการขอนัดหมายเพื่อพูดคุย ที่เคยส่งถึงในเดือนสิงหาคม 2562 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงแสดงความตั้งใจและจริงใจในการเจรจา ตลอดจนเปิดโอกาสพูดคุยกับรัฐบาลฯ ทั้งก่อน และหลังการไต่สวนอนุญาโตตุลาการ
     ในเดือน พ.ย. 2562 ในระหว่าง18 – 29 พ.ย. 2562 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด ลิมิเด็ต และรัฐบาลไทย เข้าสู่กระบวนการไต่สวนอนุญาโตตุลาการ ที่ฮ่องกง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-กระทรวงอุตฯ สู้ 2 ประเด็นเหมืองทองอัครา

-ครม.ถกลับ ปมเหมืองอัครา 'ประยุทธ์' ลั่น 'ผมรับผิดชอบ

-'สุริยะ' เครียด! ปัดตอบสื่อปมทางออกเหมืองอัคราฯ

-'วิษณุ' เผยครม. แค่รับทราบข้อเสนอ 'คดีเหมือง' ยังไม่