'ธนาธร' นั่งกมธ.งบฯ เกมซ่อนกล-คนซ่อนเงื่อน

'ธนาธร' นั่งกมธ.งบฯ เกมซ่อนกล-คนซ่อนเงื่อน

ผ่านพ้นการอภิปราย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 วาระแรก "รัฐบาล" ชนะโหวตเอกฉันท์ หลัง "ฝ่ายค้าน" เลือกยื้อให้ผ่านไปก่อน

เพื่อลดแรงเสียดทานที่จะพุ่งเป้ามายัง “ฝ่ายค้าน” ทันที หากเลือกเล่นเกมแรงโหวตคว่ำกันตั้งแต่ยกแรก

จึงต้องจับตาศึกชำแหละ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้น คณะกรรมาธิการ จะปรับลดหรือเพิ่มงบประมาณให้ กระทรวง-หน่วยงาน ใดกันบ้าง

แต่ที่ต้องโฟกัสมากสุดคือการที่ “ฝ่ายค้าน” เสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการด้วย โดยหวังให้ “ธนาธร” เข้ามามีปากเสียงในการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เพราะทางหนึ่งสามารถนำ ข้อคิดเห็น-คำพูด ของ “ธนาธร” ไปปลุกกระแส “แฟนคลับ” ในโซเชี่ยลมีเดียได้

ทว่าปัญหายังไม่จบ เพราะสถานะของ “ธนาธร” ยังไม่ชัดเจนว่าสามารถเข้ามาเป็นกรรมาธิการได้หรือไม่

แม้อำนาจการตั้ง กมธ.วิสามัญของสภาฯ ในมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า สภาฯ มีอํานาจเลือกบุคคลผู้เป็น ส.ส. หรือไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นกมธ.วิสามัญเพื่อกระทํากิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ แต่ในกรณีของ “ธนาธร” มีข้อกังขา

เหตุผลหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ หากจะเข้ามาในโควตา “ส.ส.” ก็ไม่สามารถทำได้เพราะศาลระบุชัดเจนให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

เหตุผลสอง หาก “ธนาธร” จะเข้ามาในโควตาคนนอก ก็ยังมีข้อกังขาอยู่ว่า “ธนาธร” ยังคงมีสถานะ “ส.ส.” เพียงแต่โดน ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สรุปแล้ว “ธนาธร” เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็น “ส.ส.” หรือไม่ และหาก “ธนาธร” ต้องการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการธิการในโควตาดังกล่าว จะต้อง “ลาออก” จาก “ส.ส.” ก่อนหรือไม่

เมื่อสถานะของ “ธนาธร” ไม่ชัดเจน ขั้วรัฐบาล จึงต้องตามสกัด เพื่อไม่ให้การพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ต้องเกิดเหตุสุ่มเสี่ยง เพราะหากมีปัญหาจนต้องส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย อาจจะต้องทอดเวลาออกไปอีก

และหากอ่านเกม “ฝ่ายค้าน” อาจจะใช้ประโยชน์จากสถานะอันคลุมเคลือของ “ธนาธร” เป็นเกมปั่นหัว

ว่ากันว่า “ขั้วรัฐบาล” ระแวงจนถึงขั้นเกรงว่า “ฝ่ายค้าน” วางเกมซ่อนกล-คนซ่อนเงื่อนเพื่อขุดบ่อล่อปลาหวังล้ม พ.ร.บ.งบประมาณ โดยการแบ่งบทกันเล่นยื่นให้ชี้ขาดว่า จะถึงขั้น โมฆะ หรือไม่