เปิดฤดูกาลต่อต้านรัฐ ประท้วงปะทุทั่วโลก

เปิดฤดูกาลต่อต้านรัฐ ประท้วงปะทุทั่วโลก

คนที่ติดตามข่าวต่างประเทศช่วงนี้คงเห็นข่าวการประท้วงเกิดขึ้นในหลายประเทศ ราวกับว่าโลกกำลังตกอยู่ในฤดูกาลแห่งการท้าทายอำนาจรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (21 ต.ค.) ชาวโบลิเวียผู้โกรธแค้นปะทะกับตำรวจ หลังฝ่ายค้านกล่าวหาว่าถูกโกงเลือกตั้งทำให้ประธานาธิบดีเอโบ โมราเลสเป็นฝ่ายชนะ

สัปดาห์ก่อนชาวชิลีเดินขบวนประท้วงกลางกรุงซันติอาโก ไม่พอใจที่ทางการขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ การประท้วงกลายเป็นความวุ่นวาย เกิดเหตุปล้นสะดมร้านค้า เผารถเมล์ จนประธานาธิบดีต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน

ไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุทำนองเดียวกันที่เอกวาดอร์ รัฐบาลเลิกพยุงราคาพลังงานที่เคยทำมาหลายสิบปี ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจต้องลงถนนประท้วงบานปลายกลายเป็นเหตุไม่สงบ ผู้นำต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในอเมริกาใต้

ที่ฮ่องกงวุ่นวายมาหลายเดือนแล้ว กรุงเบรุตของเลบานอนก็เป็นอัมพาต สัปดาห์ก่อนหลายพื้นที่ของบาร์เซโลนาในสเปนดูราวกับสมรภูมิเดือด ขณะที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวอังกฤษหลายหมื่นคนเดินขบวนกันในกรุงลอนดอนประท้วงเบร็กซิท

157187515837

เห็นได้ชัดว่าช่วงไม่กี่เดือนหลังเกิดเหตุประท้วงขึ้นทั่วโลก ตามเหตุปัจจัยของตนเอง แต่ที่เหมือนกันคือความไม่พอใจของประชาชน

เซอร์เก กูรีฟ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนาตั้งข้อสังเกตว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ใช่ว่าจะมีที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจไปเสียทั้งหมด แต่โลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำรุนแรงในประเทศ

ขณะที่ไซมอน เฟรนช์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแพนเมอร์กอร์ดอนของอังกฤษ มองว่า สื่อดิจิทัลก็ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ทันที

“เรารู้ว่าเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขนั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการประเมินถึงจุดที่เราอยู่ กับจุดที่เราอยากให้เป็น ซึ่งตอนนี้หมุดหมายดังกล่าวไปไกลกว่าการเปรียบเทียบแค่ในชุมชนของเราเองแล้ว”

หากจำแนกปัจจัยของการประท้วงพอจะจำแนกได้ดังนี้

เศรษฐกิจ

เหตุรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้อย่างน้อยใน 4 ประเทศมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่นรัฐบาลชิลีและเอกวาดอร์พยายามขึ้นค่าโดยสารและยุติการพยุงราคาน้ำมันทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้าน

เมื่อเกิดเหตุปะทะกันในกรุงกีโต ประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน ของเอกวาดอร์ ติดต่อผู้นำชนเผ่าที่ระดมคนออกมาประท้วง

แต่ไม่กี่นามีต่อมา เจมี วาร์กาส แกนนำผู้ชุมนุมปฏิเสธการติดต่อ เขาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊คจากเวทีประท้วงที่มีคนดูหลายล้านคน ประกาศชัด “เรากำลังปกป้องประชาชน”

ปฏิกริยาของแกนนำยิ่งตอกย้ำและเพิ่มการท้าทายรัฐบาลที่พยายามสกัดคนเห็นต่าง ตอนนี้ผู้ประท้วงหันมาใช้โซเชียลมีเดียติดต่อสื่อสารถึงกันสะดวกกว่าเมื่อครั้งอดีต

ที่กรุงเบรุตของเลบานอน ประชาชนรวมตัวกันครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปีจำนวนหลายหมื่นคน ผู้คนทุกวัยทุกศาสนาร่วมพลังกันเพราะไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจเลวร้าย และผู้นำทุจริต

ชาวอิรักก็เคยไม่พอใจแบบเดียวกันนี้จนนำไปสู่การประท้วงถึงแก่ชีวิตเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.

ชาวอิรักโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรู้สึกว่า นับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) พ่ายแพ้ไปเมื่อปี 2560 พวกตนได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงน้อยนิด จนต้องออกมาประท้วงทั่วประเทศ สถานการณ์เริ่มรุนแรง รัฐบาลสั่งตัดอินเทอร์เน็ตไม่ให้ผู้ชุมนุมติดต่อสื่อสารกันได้ จากนั้นส่งกองทัพมาปราบปรามประชาชน สไนเปอร์ซุ่มยิงมาจากหลังคา รวมยอดผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

ต้องการปกครองตนเอง

ฮ่องกงปั่นป่วนมา 5 เดือน จากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งรวบอำนาจ ถือเป็นวิกฤติการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนสู่อ้อมอกจีนในปี 2540

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการชุมนุมใหญ่ 2-3 ครั้ง แต่บานปลายกลายเป็นความรุนแรง นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งจุดไฟเผาสถานีรถไฟใต้ดิน ทำลายร้านค้า หลายครั้งพุ่งเป้าธนาคารจีนและร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินใหญ่

157187519959

ตำรวจต้องยิงแก๊ซน้ำตาหลายพันนัด กระสุนยางหลายร้อยนัด และกระสุนจริง 3 นัดตอบโต้ผู้ประท้วงที่ขว้างก้อนอิฐและระเบิดเพลิงเข้าใส่

เหตุการณ์ในฮ่องกงถูกนำมาเปรียบเทียบกับกาตาลุญญาในสเปน ประชาชนโกรธขึ้งที่รัฐบาลไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องขออำนาจปกครองตนเองมากขึ้น หากไม่ให้เอกราชโดยตรง

เมื่อทางการสั่งจำคุกกลุ่มผู้นำแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญา ที่พยายามประกาศเอกราชผู้ประท้วงพากันเผารถและปาระเบิดเพลิงเข้าใส่ตำรวจในบาร์เซโลนา รวมทั้งเล่นงานเป้าหมายเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้ได้มากที่สุด เช่น สนามบินนานาชาติ เป็นเหตุให้ต้องยกเลิกกว่า 100 เที่ยวบิน

157187530959

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นที่่ฮ่องกงมาก่อน ชี้ให้เห็นว่าขบวนการประท้วงลอกเลียนแบบกันผ่านโซเชียลมีเดียและข่าว

“ฮ่องกงทำได้ดี แต่รุนแรงกว่า” จุยเซปเป เวย์เรดา นักศึกษาศิลปะวัย 22 ปี ที่ร่วมประท้วงเรียกร้องเอกราชกาตาลุญญาให้ความเห็น

ในวันนี้ (24 ต.ค.) ผู้ประท้วงฮ่องกงมีแผนเดินขบวนแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการประท้วงในสเปน

มีหรือไม่มีผู้นำก็ได้

บางกรณี ประชาชนใช้โซเชียลมีเดียนัดมาชุมนุมกันโดยไม่ต้องมีแกนนำ เช่น การประท้วงที่อียิปต์ในเดือน ก.ย. แม้เป็นกลุ่มเล็กแต่ก็สำคัญตรงที่ไม่ค่อยมีการชุมนุมกันแบบนี้ ตัวเร่งปฏิกริยาท้าทายให้ประชาชนออกมาต้านประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซีมาจากการที่ชาวอียิปต์คนหนึ่งโพสต์วีดิโอหลายคลิปมาจากสเปน

หรือกรณี เกรตา ธุนเบิร์ก วัยรุ่นชาวสวีเดน สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนหลายล้านคนออกมาเดินขบวนในเมืองใหญ่ทั่วโลกเมื่อเดือน ก.ย. เรียกร้องให้ผู้นำประเทศลงมือหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่นิวยอร์ก ประชาชนหลายหมื่นคนรวมตัวกันรอฟังเธอพูด

“ถ้าคุณเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่รู้สึกว่ากำลังถูกเราคุกคาม เรามีข่าวร้ายบางอย่างมาบอก นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงกำลังมา ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม” ธุนเบิร์กกล่าวกับผู้ฟัง

แต่ท่ามกลางเหตุประท้วงโกลาหลในยุโรปและอเมริกาใต้ จีนได้โอกาสประณามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และปกป้องทางการในการจัดกับความไม่สงบ

หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันจันทร์ (21 ต.ค.) อ้างถึงเหตุปะทะในกาตาลุญญา ชิลี และการประท้วงในกรุงลอนดอน

“ความรุนแรงในฮ่องกงกำลังถูกผลิตซ้ำในหลายๆ ที่ กาตาลุญญาประกาศต่อสาธารณะว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากฮ่องกงและจะสร้างฮ่องกง 2 ขึ้นมาที่นั่น ผมคิดว่าพวกเขาต้องพิจารณาถึงสิ่งที่กำลังทำ”

จีนประณามการกระทำของผู้ประท้วงบางคนว่าเหมือนกับผู้ก่อการร้าย และกล่าวหาว่ารัฐบาลต่างชาติยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

“ช่วงหลังทั้งรัฐบาลปักกิ่งและสื่อจีนต่างวิจารณ์ผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ป้ายสีว่าเป็นพวกตัวร้ายในละครที่ถูกเปิดโปง ปักกิ่งใช้สถานการณ์ในกาตาลุญญาตอกย้ำว่า การมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง บังคับใช้กฎหมายเข้มงวดเท่านั้น จึงจะรับมือกับความวุ่นวายได้” อดัม นี นักวิจัยด้านจีนจากมหาวิทยาลัยแมคควารีในออสเตรเลียให้ความเห็น

ด้านหัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวในวันเดียวกันว่า การรับมือของรัฐบาลตะวันตกต่อผู้ประท้วงในกาตาลุญญาและลอนดอนชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูที่ตะวันตกใช้แทรกแซงกิจการฮ่องกงเท่านั้น