โบรกปรับกลยุทธ์รับมือ 'ค่าคอมฯ' วูบ แห่ลุยธุรกิจเวลธ์

โบรกปรับกลยุทธ์รับมือ 'ค่าคอมฯ' วูบ แห่ลุยธุรกิจเวลธ์

โบรกเกอร์ หันลุยธุรกิจเวลธ์ แมเนจเมนท์ หวังสร้างรายได้ประจำ ชดเชยค่าคอมมิชชั่น หลังตลาดหุ้นซบเซา “ทิสโก้” ชี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบไอทีรองรับบริการ ด้าน “เคจีไอ” ตั้งเป้าเอยูเอ็มแตะ 2-3 หมื่นล้าน ภายใน 3 ปี

มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยที่เบาบางลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดวอลุ่มเฉลี่ยต่อวันเพียง 4  หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่เฉลี่ยอยู่ในระดับ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือเทียบกับปี 2561 ที่อยู่ระดับ 5.6 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ “โบรกเกอร์” ต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน หันมาทำธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอมากขึ้น โดยระยะหลังจะเห็นหลายบริษัทรุกตลาดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้า(Wealth Management )

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ ของโบรกเกอร์ต่างๆ จากนี้จะเน้นการทำธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอมากขึ้น     เนื่องจาก อัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) ของทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี นักลงทุนชะลอการซื้อขาย ส่งผลให้รายได้โบรกเกอร์ปรับตัวลดลง สะท้อนจากช่วงครึ่งแรกปี 2562 โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ขาดทุน ยกเว้น โบรกเกอร์ ที่มีรายได้อื่นเข้ามาเสริม

       ทั้งนี้ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ เช่น  Wealth Management  แม้ลูกค้าไม่มีการซื้อขาย โบรกเกอร์จะยังคงได้ค่าบริหารเงินลงทุน หรือการเก็บรักษาเงินของลูกค้า และค่าบริหารการลงทุนนั้น โบรกเกอร์ สามารถกำหนดได้เอง ตามความสามารถในการสร้างกำไรให้กับลูกค้า เช่น หากโบรกเกอร์ทำผลงานที่ดี เชื่อว่าลูกค้ายอมจ่ายค่าบริหาร แม้อยู่ในอัตราที่สูง

สำหรับ บล.ทิสโก้ เตรียมให้บริการWealth Management โดยในช่วงนี้อยู่ระหว่างการเริ่มต้นการให้บริการ ยังไม่ได้เปิดเป็นทางการ เพราะ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบไอทีในการให้บริการ เพราะ หากระบบไอทีที่ไม่เสถียร หากลูกค้ามีจำนวนมาก อาจมีผลทำให้บริหารผิดพลาด โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว

นายสมชาย กาญจนเพชรรัตน์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มให้บริการ Wealth Management ในช่วงต้นปี2562 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพราะ ปีนี้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูง ทำให้มีชะลอลงทุน บริษัทจึงแนะนำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ  เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก ฯลฯ  โดยบริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี ข้างหน้า จะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริการ (AUM) 2-3 หมื่นล้านบาท จาก ปัจจุบันมี หลัก พันล้านบาท  

  สำหรับจุดแข็ง คือ บริษัทแม่ ที่ไต้หวัน มีความเชี่ยวชาญให้บริการดังกล่าว มีระบบงานการให้บริการ ซึ่งบริษัทฯนำมาปรับใช้ รวมถึงช่วยในการเลือกผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ เพื่อแนะนำให้กับนักลงทุน ประกอบกับทีมเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทฯจะเปิดตัวให้บริการWealth Management อย่างเป็นทางการในงานSET in the City วันที่ 14-17พ.ย. นี้  โดยบริษัทมีการใช้ AI เข้ามาประเมินความเหมาะสมในการกระจายลงทุนให้ตรงกับเป้าหมายผลตอบแทนของลูกค้า และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย 

 นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้มีการทำธุรกิจ Wealth Management มาอย่างต่อเนื่อง เพราะ เทรนด์การทำธุรกิจโบรกเกอร์จะหันไปทางนี้มากขึ้น เพื่อกระจายฐานรายได้ ซึ่งบริษัทได้จับมือกับดีบีเอสไพรเวทแบงก์ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้นำการให้บริการWealth Management ในภูมิภาคนี้ ในการให้บริการ