‘วิชัย ทองแตง’ จากเซียนหุ้น สู่การลงทุนใน ‘สตาร์ทอัพ’

‘วิชัย ทองแตง’ จากเซียนหุ้น สู่การลงทุนใน ‘สตาร์ทอัพ’

กลุ่มบริษัทผู้พัฒนาบล็อกเชนและเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย นำโดยบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (บริษัทในกลุ่มเจมาร์ท) และพาสเนอร์อีก 4 ราย ได้เปิดตัว “Thailand Blockchain Working Group” หรือ TBWG เพื่อเป็นหน่วยงานในการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก วิชัย ทองแตง นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดทุน มาให้มุมมองการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ซึ่งล่าสุดได้ผันตัวกลายมาเป็นนักลงทุนใน “ธุรกิจสตาร์ทอัพ

วิชัย เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือบริษัทสตาร์ทอัพหลากหลายบริษัท ส่งผลให้ปัจจุบันตนเองได้ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพไปแล้วมากกว่า 10 ราย กระจายในหลากหลายอุตสาหกรรม และบางรายอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าภายในช่วง 5 ปีข้างหน้าน่าจะมีมากกว่า 3 บริษัทในพอร์ตที่จะสามารถเดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นได้

“ทุกวันนี้ผมทำตัวเป็นปลาช้า ให้ปลาเร็วมากลืนกิน ผมได้ประโยชน์ในเชิงพัฒนาการ เด็กพวกนี้มีความคิดว่าเขาได้ผมมาช่วยเขาจะภูมิใจและมุ่งมั่นทำธุรกิจ เพราะถ้าผมตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนกับเขา ผมจะทำให้เขามีคอนเน็กชั่น เนื่องจากผมมีธุรกิจที่หลากหลายที่สามารถช่วยเขาได้ เพราะผมเป็นนักต่อยอด”

ทั้งนี้การหันเข้ามาลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพนั้น เนื่องจากในช่วง 4-5 ปีหลังสนใจการลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีและไอทีเป็นอย่างมาก เพราะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะไม่เคยมีความรู้พื้นฐานด้านไอทีเลย แต่เชื่อมั่นว่าคนไทยมีความรู้ความสามารถค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเบ่งบานได้ จึงมองว่าเห็นถึงโอกาสถึงการลงทุนเพื่อช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีและ blockchain ของไทยแข็งแรงและเติบโตต่อไปได้ 

โดยมองว่าประเทศไทยควรมีกองทุนที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ และช่วยทำให้เกิดธุรกิจขึ้นมากมายและเป็นโอกาสการเติบโตของประเทศ

วิชัย ประเมินว่า ตลาดไทยยังมีช่องทางการเติบโต แต่ยังติดปัญหาที่ด้านเงินทุน แม้ภาครัฐจะออกนโยบายที่ให้การสนับสนุนแต่เชื่อว่ายังมีอุปสรรคอยู่มาก อย่างไรก็ตามหลายคนจะมองว่าความเสี่ยงของธุรกิจสตาร์ทอัพมีค่อนข้างสูง ซึ่ง 10 บริษัทอาจสำเร็จเพียง 1 บริษัท แต่ส่วนตัวเชื่อมั่นพยายามให้กำลังใจทุกบริษัทและชี้แนะแนวทางเพื่อเป้าหมายที่สวยงามในอนาคต

ส่วนผลตอนแทนที่ได้จากการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพนั้น มองว่าควรมากกว่าตัวเลข 2 หลักหรือบางตัวสูงถึง 10-20% ซึ่งหากเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นในปัจจุบันถือว่าให้ผลตอบแทนที่มากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งการลงทุนก็ควรคัดเลือกบริษัทที่ดี ซึ่งหลักในการลงทุนของผมนั้นง่ายๆ โดยใช้หลัก "2 จี" คือ1.ต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสการเติบโตได้ และ2.ต้องเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาทำธุรกิจได้ ไม่งั้นก็เปล่าประโยชน์ 

นอกจากนี้มองว่าสิ่งสำคัญของสตาร์ทอัพ คือ ต้อง "มีเสน่ห์" ซึ่งต้องพัฒนาตัวเองอย่างเสมอไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ เพราะเชื่อว่าการจะเดินเข้าตลาดทุนได้นั้น “ต้องมีสตอรี่เพื่อสร้างเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุน”

“หัวใจสำคัญของผมคือการสร้างสตอรี่ เพื่อดึงดูดสถาบันการเงินหรือนักลงทุน และเมื่อวันที่เข้าตลาดทุนก็จะสามารถดึงดูดแม่งเม่าได้ ซึ่งผมไม่ได้ดูถูกนักลงทุน เพราะก็เคยเป็นแมงเม่ามาก่อน”

นอกจากนี้ต้องดูว่าคุณมีทีมหรือเปล่า ถ้ามาคนเดียวก็มีคำถามว่าจะไปไหวมั้ย การมีทีมไม่ใช่เงื่อนไขและข้อจำกัด แต่การมีทีมคือการส่งไม้ต่อกันต่อเนื่อง และสืบทอดหลายช่วงอายุ เมื่อไหร่มีคุณเพียงคนเดียวเป็นความเสี่ยง เมื่อคุณตายบริษัทคือจบ ซึ่งผมมักตั้งคำถามว่า เมื่อคุณตายไปแล้วจะทำอย่างไร

อย่างไรก็ตามส่วนการลงทุนในหุ้นไทยนั้น มองว่าตนเองยังคงเชื่อมั่นการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ เนื่องจากก็มีหลายบริษัทที่สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับปัจจัยภายนอกประเทศ แต่บริษัทไทยยังมีการเติบโตได้ดี โดยมองกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กลุ่มพลังงานและกลุ่มเฮลแคร์ รวมถึงกลุ่มที่อิงกับภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมาตนเองได้มีการอ่านนโยบาย 20 ปี ซึ่งก็มีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ แต่การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตามให้ทัน