'สิทธิแรงงานอาเซียน' กฎเหล็กบริษัทญี่ปุ่น

'สิทธิแรงงานอาเซียน' กฎเหล็กบริษัทญี่ปุ่น

สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามได้อีกต่อไปหากคิดค้าขายกับญี่ปุ่น ตอนนี้บริษัทแดนซากุระสนใจกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซัพพลายเชนของตนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญมาก

เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า บริษัทผลิตอาหาร “อายิโนะโมะโต๊ะ” คือหนึ่งในนั้น หลังจากพบว่า การหาข้อมูลวิธีการที่ซัพพลายเออร์ต่างแดนปฏิบัติกับคนงานทำได้ยาก ซัพพลายเออร์หลายแห่งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา บริษัทจึงขอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)

ประกอบกับความสนใจอยากปฏิบัติตามแนวทางของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เรื่องการปฏิบัติการอย่างยั่งยืนของบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะและบริษัทอื่นๆ กำลังตระหนักว่าจริยธรรมที่ดีเป็นสิ่งดีกับธุรกิจ และยิ่งเป็นจริงมากขึ้นเมื่อพวกเขากำลังดึงดูดผู้บริโภคเจนแซด ที่เกิดระหว่างกลางทศวรรษ 90- ต้นทศวรรษ 2000 คนรุ่นนี้กำลังเติบโตและอ่อนไหวเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจมากยิ่งกว่าคนรุ่นก่อนๆ

บริษัทในญี่ปุ่นยังคงตามหลังบริษัทตะวันตกในแง่ของการมีจิตสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของนิกเคอิ เอเชียน รีวิว เมื่อเดือน ส.ค. จัดอันดับบริษัทใหญ่วัดจากผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น และคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล พบว่า 50 อันดับแรกไม่มีบริษัทญี่ปุ่นเลย

อายิโนะโมะโต๊ะตระหนักถึงปัญหานี้ดี ได้จัดทำคู่มือสิทธิมนุษยชนขึ้นมาทั้งใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของตนเอง และให้หุ้นส่วนธุรกิจปฏิบัติตามด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับการปฏิบัติตาม คู่มือนี้จึงมีการตรวจสอบเชิงลึกในหลายระดับ

บริษัทเริ่มระบุที่ตั้งที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ในประเทศไทย อายิโนะโมะโต๊ะประสานงานกับเอ็นจีโอและกลุ่มอุตสาหกรรมในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง สืบดูสภาพการทำงานของแรงงานย้ายถิ่นชาวกัมพูชาและเมียนมา ในโรงงานแปรรูปไก่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัท พบว่า โรงงานแห่งนี้ใช้บริการออนไลน์จากเอ็นจีโอรายหนึ่ง ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้าไปขอคำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตในไทยได้

วิธีการนี้เป็นแรงบันดาลใจให้อายิโนะโมะโต๊ะหาช่องทางต่างๆ นานาติดตามว่า ซัพพลายเชนในที่อื่นๆ ปฏิบัติตามคู่มือสิทธิมนุษยชนหรือไม่

“เราจะใช้สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากประเทศไทย สร้างระบบรวบรวมความคิดเห็นจากคนงานโดยตรง” โฆษกอายิโนะโมะโต๊ะกล่าว

แต่อายิโนะโมะโต๊ก็ยังช้ากว่าฟูจิออยล์โฮลดิงส์ ผู้ผลิตน้ำมันและไขมันชั้นนำของญี่ปุ่น ที่ลงมือทำไปเรียบร้อยแล้ว บริษัทนี้ที่ใช้น้ำมันปาล์มส่วนใหญ่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดตั้งแผนกหนึ่งขึ้นในสำนักงานใหญ่ที่โอซากา ทำหน้าที่รับฟังคำร้องเรียนจากแรงงานในซัพพลายเออร์ต่างประเทศโดยเฉพาะ

ฟูจิิออยล์ไม่อาจพึี่งพาพันธมิตรให้ข้อมูลเรื่องสภาพการทำงานที่แท้จริงได้ จึงขอให้คนงานและเอ็นจีโอส่งคำร้องมาที่สำนักงานใหญ่โดยตรง ไม่ว่าจะโดยอีเมล โทรศัพท์ หรือจดหมายธรรมดา

เอเอ็นเอโฮลดิงส์ เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเข้มข้นกว่าเดิม โดยตรวจสอบผู้จัดหาอาหารบริการบนเครื่องละเอียดขึ้น จับมือกับมูลนิธิบลูนัมเบอร์ เอ็นจีโอสหรัฐ ให้ช่วยติดตามผู้ผลิต บุคคล และบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากนี้เอเอ็นเอยังสัมภาษณ์พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในต่างแดน รวมถึงบุคลากรฝ่ายทำความสะอาดและบริการขนส่งสินค้าที่เป็นบริการว่าจ้างจากภายนอก เพืื่อหาความจริงเรื่องสภาพการทำงาน

ข้อกังวลว่าด้วยจริยธรรมที่เพิ่งค้นพบเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อสถานะการเงินของบริษัท ถ้าปัญหาสิทธิมนุษยชนหรืออื่นๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว บริษัทหนึ่งๆ อาจถูกชาวเน็ตถล่มยับแล้วพากันบอยคอตต์ในชั่วข้ามคืน

ปี 2560 แบรนด์แฟชั่นรายหนึ่งในญี่่ปุ่นถูกคว่ำบาตร หลังมีรายงานว่า ลูกจ้างชาวจีนในบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าที่เป็นคู่สัญญาต้องทำงานภายใต้สภาพย่ำแย่ ที่ย้อนแย้งคือแรงงานเหล่านี้อยู่ในประเทศที่ร่วมโครงการ “ฝึกแรงงานต่างชาติ” ของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ก็มีการละเมิดสิทธิแรงงานมากมาย

ทนายความที่กังวลกับปัญหานี้ และเครือข่าย“โกลบอลคอมแพคท์เน็ตเวิร์กเจแปน” ที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในญี่ปุ่นเผยร่างคู่มือแนะนำวิธีการรวบรวมข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน ที่บริษัทจะหาได้จากทั้งภายในและภายนอกเพื่อนำมาแก้ปัญหา

ไดสุเกะ ทาคาฮาชิ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยว่า การจะกำจัดความเสี่ยงให้สิ้นซากไปเลยนั้นทำได้ยาก “แต่ถ้าภาคธุรกิจมีหน่วยงานแก้ไขปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มคุณค่าของบริษัทได้”

เว็บไซต์อีโคบิสสิเนสรายงานว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายซีเอสอาร์อาเซียน (เอซีเอ็น) ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในสิงคโปร์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติภาพศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอาร์ติเคิล 30 เผยแพร่ผลการศึกษาร่วม พบว่า บริษัทจดทะเบียน 50 รายแรกใน 5 ประเทศ ทั้งมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่ได้รายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้ถือเป็นหัวข้อที่บริษัทเปิดเผยน้อยที่สุด เช่นเดียวกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในบรรดาบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของอาเซียน 250 แห่ง เมื่อต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ 36% ไม่กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนเลย มีเพียง 15.6% เท่านั้นที่กล่าวถึงปัญหาค้ามนุษย์ว่าเป็นปัญหาสำคัญมาก ทั้งๆ ที่สื่อมวลชนให้ความสนใจเรืื่องการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นพื้นที่ศูนย์กลางปัญหาโลก แทบทุกบริษัทเปิดเผยข้อมูลเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่บริษัทไม่ถึง 1 ใน 6 ที่กล่าวถึงการค้ามนุษย์