อนุมัติ7.6พันล.เยียวยาน้ำท่วม ช่วย29จว.แจก5,000/ครัวเรือน

อนุมัติ7.6พันล.เยียวยาน้ำท่วม   ช่วย29จว.แจก5,000/ครัวเรือน

ครม.อนุมัติ 7.6 พันล้านบาท จากงบกลางฯ เยียวยาอุทกภัย 29 จังหวัดจ่ายเบื้องต้นครัวเรือนละ 5 พัน กว่า4.1 แสนครัวเรือน ส่วนที่เหลืออีก 2 พันล้านบาทให้ อปท.เยียวยาชุมชนที่เดือดร้อน รัฐบาลเร่งตั้งไข่ “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” อุดช่องว่างขับเคลื่อนป้องวิกฤติ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี2561วงเงิน7,642ล้านบาท เพื่อเยียวยาและให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินกรณีอุทกภัย 

ครอบคลุมผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุดีเปรสชันคาจิกิ ซึ่งตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. จนถึงปัจจุบันมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว29จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ แพร่ นครพน มเชียงให ม่ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลกพิจิตรแม่ฮ่องสอน ชุมพร อุดรธานี สระแก้ว ลำปาง สุโขทัย ศรีสะเกษ และสกลนคร มีประชาชนได้รับผลกระทบ418,480ครัวเรือน

โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรที่รอการเก็บเกี่ยวรุนแรงอย่างมากส่งผลให้พืชผลหลักๆไม่ว่าจะเป็น ข้าวมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปศุสัตว์ได้รับความเสียหายสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ประจำตลอดจนสิ่งก่อสร้างถนนสิ่งสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่รวม 29 จังหวัด

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวว่า จะเป็นการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นครัวเรือนละ5,000บาท จำนวน418,480ครัวเรือน วงเงิน2,092ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการจัดสรรให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.) ฟื้นฟูความเสียหายในพื้นที่โดยให้จังหวัดที่ประสบภัยเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์และช่วยเหลือให้แล้วเสร็จใน60วันนับแต่วันได้รับอนุมัติงบประมาณ

สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยครัวเรือนและ5,000บาทนั้นได้แก่กรณีที่1น้ำท่วมถึงที่พักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหายกรณีที่2บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขับติดต่อกันไม่น้อยกว่า7วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และกรณีที่3บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทุกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม

ส่วนเงื่อนไขการจะได้รับความช่วยเหลือคือ1.ทั้ง 3 กรณีต้องเป็นบ้านที่อาศัยประจำในพื้นที่ทได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่อำเภอออกให้ ทั้งนี้ ต้องมีการประชุมประชาคมในหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย 2.กรณีที่มีผู้ประสบภัยซ้ำซ้อนทั้ง3กรณี ให้รับความช่วยเหลือเพียงกรณีเดียว และ3.กรณีประสบภัยจากพายุโพดุล และพายุคาจิกิ ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงกรณีเดียว

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยหลังการประชุมกรอบโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า การประชุมครั้งนี้มี พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการหน่วยงานจัดทำกรอบโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ก.ย.2562 

รวมถึงกลไกการปฏิบัติงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (WAR ROOM) ที่เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ “มวลน้ำ” ในภาวะวิกฤติเพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยเร็วต่อไป

ได้ประชุมร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

“ที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรอบการทำงานร่วมกันภายในการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ให้มีผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การคาดการณ์สภาพอากาศ สภาพฝนที่จะให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกันว่าการคาดการณ์ลักษณะอากาศ สภาพฝน เพื่อนำไปสู่การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 3 วัน เพื่อหน่วยงานได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ"

ทั้งนี้ ต้องมีการอัพเดตสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุก 6 ชั่วโมง ซึ่งหน่วยงานหลักที่จะดำเนินการคาดการณ์พายุ สภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน จะมี 3 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. และ GISTDA จากนั้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ชี้เป้าการป้องกันภัยและการเตือนภัยไปยังหน่วยปฏิบัติ เช่น กรมป้องกันบรรเทา สาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ น้ำท่า รวมถึงแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเป้าหมาย ซึ่งเชื่อมโยงการทำงานกับ “แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558” ในทุกระดับภัยได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการกำหนดประชุมนัดแรก ในจันทร์ที่ 30 กันยายนนี้ ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อติดตามประเมินสภาพอากาศ สถานการณ์ฝน น้ำท่า ซึ่งจากการติดตามคาดการณ์พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำเริ่มแผ่ลงมาทางภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งต้องมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วย