‘กรมชลฯ’เตือนจ.ปราจีนฝนหนัก-ระวังท่วม

‘กรมชลฯ’เตือนจ.ปราจีนฝนหนัก-ระวังท่วม

“กรมชลประทาน” เตือน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีน ฝนตกหนัก หวั่นน้ำท่วมฉับพลัน สั่งทุกหน่วยงานเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ‘สทนช.’ ปรับเกณฑ์ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาใหม่ หวังคุมผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ “ประภัตร” เผยพื้นที่เกษตร จ.ร้อยเอ็ด เสียหายแล้วกว่า 8.7 แสนไร่

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสภาพฝนในช่วงวันที่ 19-22 ก.ย. พบว่ามีฝนตกหนักถึงหนักมากใน จ.ปราจีนบุรี และสระแก้ว ทำให้ปริมาณน้ำและระดับน้ำทางตอนบนทั้งแม่น้ำแควหนุมาน แม่น้ำพระปรง และลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรีเพิ่มสูงขึ้น

โดยปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี ที่สถานีวัดน้ำ Kgt.3 อ.กบินทร์บุรี มีระดับน้ำ 8.47 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2 เมตร ซึ่งระดับน้ำสูงขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 เซนติเมตร คาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณตลาดเก่ากบินทร์บุรี

“ได้สั่งการให้โครงการชลประทานปราจีนบุรี เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือจากสถานการณ์น้ำได้ทันที พร้อมวางกระสอบทรายบริเวณจุดต่ำของถนนริมน้ำตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่คอยติดตาม ตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพตามสถานการณ์น้ำที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา”

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานพร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำปราจีนบุรี ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ ให้ยกของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งล่าสุด ได้มีมติปรับเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทใหม่ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แบ่งเป็น 4 กรณี คือ 1.กรณีระบายน้ำในปริมาณน้อยว่า 700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งจะไม่เกินความจุของลำน้ำและไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำได้ตามปกติ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือรายงาน

2.กรณีการระบายน้ำตั้งแต่ 700-1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำหรือเหนือน้ำ จะต้องรายงานต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบภายใน 3 วัน

3.กรณีที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำตั้งแต่ 1,500–2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะต้องขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการฯ ล่วงหน้า 3 วัน และ 4. กรณีที่จำเป็นจะต้องระบายน้ำมากกว่า 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจะต้องขอนุญาตต่อ กนช. ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ถ้าหากเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้ขออนุญาตประธาน กนช. พิจารณาโดยตรง และให้รายงานต่อ กนช. โดยเร่งด่วน

“ในการระบายน้ำตั้งแต่ 700-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีพื้นที่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบเกิดภาวะน้ำท่วม อาทิ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และหากระบายน้ำตั้งแต่ 2,000-2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น อาทิ วัดสิงห์ จ.สิงห์บุรี ถ้าระบายตั้งแต่ 2,200-2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น อาทิ ต.โพนางคำ และถ้าระบายมากกว่า 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น อาทิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง” นายสมเกียรติกล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาในปัจจุบัน มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง จากการเฝ้าระวัง พบว่า มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ แต่ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก รวมทั้งแก้มลิงธรรมชาติที่เตรียมไว้รองน้ำปริมาณน้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อน ยังมีน้ำไหลเข้าไม่มากในภาพรวมยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ยังไม่เกิน.500 ลบ.ม.ต่อวินาที

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการมายัง สทนช.ถึงการปรับเกณฑ์การระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ ปรับเพิ่มการระบายช่วงวันที่ 16 -22 กันยายน 2562 จากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็น 4.5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปรับเพิ่มการระบายช่วงวันที่ 18 -22 กันยายน 2562 จากเฉลี่ยวันละ 0.43 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1.29 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนป่าสักฯ ปรับเพิ่มการระบายช่วงวันที่ 16 -22 กันยายน 2562 จากวันละ 0.23 ล้าน ลบ.ม. เป็น 0.86 ล้าน ลบ.ม.เพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค และระบบนิเวศให้แก่พื้นที่ท้ายน้ำ โดย สทนช.ได้เน้นย้ำการระบายน้ำจะต้องคำนึงถึงฝนที่ตกในพื้นที่ด้านท้ายประกอบด้วย

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ จากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา มีพื้นที่ทางการเกษตรคาดว่าจะเสียหายกว่า 870,712 ไร่ โดยในวันที่ 23 ก.ย. จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562 ระดับอำเภอ เพื่อดำเนินการติดตามและให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยต่อไป

โดยนายกฯได้กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งสำรวจความเสียหาย และเยียวยาให้เร็วที่สุด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เตรียมจะเสนอต่อที่ประชุมครม. พิจารณา 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.ปลูกถั่วเขียว โดยให้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัมต่อไร่ ประกันราคาที่ 30 บาท 2.ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เมล็ดพันธุ์ 3.5 กิโลต่อไร่ คนละไม่เกิน 10 ไร่ ประกันราคาที่ 8 บาท และ3.โครงการโคขุนสร้างรายได้ ส่งออกไปจีน เป้าหมาย 1 ล้านตัว โดยกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนเงินกู้รายละ 120,000 บาท ซื้อลูกโค 5 ตัว ตัวละไม่เกิน 24,000 บาท และมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 250 กก. ประกันวัวตัวละ 100 บาทต่อเดือน กำหนดระยะเวลาเลี้ยง 4 เดือน โดยเลี้ยงในคอกของตนเอง

รวมถึงสนับสนุนเครื่องผสมอาหารตามสูตรของกรมปศุสัตว์ ให้กลุ่มละ 500-1,000 ตัว อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะวางระบบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ 1 บ่อ ใช้ประโยชน์ได้ถึง 700-1,000 ไร่ และรัฐบาลช่วยเหลือดอกเบี้ยให้ 3% เกษตรกรออกเอง 1% และมีประกันความเสียหายหากโคเสียชีวิต ซึ่งจากการพูดคุยและสอบถามความคิดเห็นของเกษตรกรทั้งสองอำเภอนั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยและมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว